“พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม” “ยาสามัญ”ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ (1)

 โดย ดร.โดม อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด

เป็นความตั้งใจอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังแต่ไม่มีโอกาสสักที เพิ่งจะมาประจวบเหมาะในช่วงเวลานี้และอยากจะบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเชียร์ให้เกิดเพราะจะเป็นผลดีต่อประเทศ เรื่องที่ว่านี้คือเรื่องของ “พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม”

ฟังดูอาจไม่เป็นที่คุ้นหูคุ้นตาใครต่อใครนั่นเพราะยังไม่ได้มีการประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ยังอยู่ในขั้นตอนของร่างกฏหมาย แต่หากมีการบังคับใช้จะสร้างปรากฏการณ์ในสังคมไทยได้อย่างมากมาย แต่ก่อนจะไปว่ากันในรายละเอียดเราไปดูถึงที่มาที่ไปของเรื่องกันสักนิดกับเวลาแห่งการรอคอย

เมื่อเราพูดถึงคำว่า “นิติบุคคล”ก็ขอเรียนว่า “นิติบุคคล”มันต่างจาก “บุคคล”นะครับ บุคคลก็คือเรา  เราจะทำอะไรก็ตามเราทำในนามบุคคล แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราจะทำอะไรแบบรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่ไม่ใช่รัฐบาล มันก็จะมีด้วยกัน 2 รุปแบบ

รูปแบบหนึ่งเราเรียกว่า “เอ็นจีโอ(Nonprofit Organization) หรือ (Non-government Organization) พวกนี้ก็คือสมาคม, มูลนิธิ อีกรูปแบบหนึ่งเราเรียกว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ถ้าเป็นเอ็นจีโอก็จะทำกิจกรรมทางสังคมโดยไม่แสวงหากำไร แต่ถ้าเป็นบริษัทคือทำกิจกรรมทางสังคมโดยแสวงหากำไรเป็นตัวตั้ง เพราะฉะนั้นทำอะไรก็ตามต้องคิดถึงเรื่องกำไรก่อน

ทีนี้ในแง่ของรูปแบบบริษัทหรือธุรกิจมันก็จะมีห้างหุ้นส่วนจำกัด ,ห้างหุ้นส่วน, บริษัท, บริษัทมหาชน ซึ่งบริษัทต่าง ๆเวลาเขาอยากจะทำอะไรเพื่อสังคมก็จะทำในรูปแบบที่เรียกว่า CSR (Corporate Social Responsibility) ประเด็นก็คือว่ามันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยากจะทำธุรกิจแต่ไม่ได้หวังกำไรเป็นอันดับหนึ่งหวังเพียงว่าธุรกิจที่ตัวเองทำมันจะส่งผลทำให้สังคมดีขึ้นนะครับ

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้มันเริ่มต้นมาจากฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะทางอังกฤษ ทางยุโรปจะเรียกธุรกิจประเภทนี้ว่า “ Social Enterprise” หรือ “ธุรกิจเพื่อสังคม” ขณะที่ภาษาบ้านเราเขาเรียกว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นสมมติว่าเรามองเส้น ๆหนึ่งทางซ้ายสุดก็คือเอ็นจีโอ ขวาสุดคือ Business หรือเราเรียกว่า Corporate ส่วนตรงกลางเราเรียกว่า Social Enterprise

และถ้าสมมติทำ CSR ในส่วนของ CSR มันก็คือก้ำกึ่งกันมาทางขวา ซึ่ง CSR ไม่ใช่ธุรกิจเป็นแค่กิจกรรม แต่ Social Enterprise คือธุรกิจ เป็นองค์กรธุรกิจที่เน้นการทำธุรกิจแต่ไม่ได้แสวงหากำไรเป็นที่ตั้ง โดยมองถึงวัตถุประสงค์คือมองถึงผลกระทบที่มีต่อสังคมด้วย อันนี้คือที่มาก่อน

ทีนี้ถามว่าทำไมถึงต้องมีแนวคิดดังกล่าวนี้ แนวคิดนี้มันเกิดจากที่ว่าในบ้านเรานั้นแต่ก่อนมีแต่เอ็นจีโอ ถามว่าเอ็นจีโอได้เงินจากไหนก็จะได้เงินจากทุนต่างประเทศเป็นหลัก เช่นพวกองค์กรการกุศลต่าง ๆจากต่างประเทศที่เขาบริจาคเงินมา หรือในเมืองไทยก็คือพวกองค์กรศาสนาก็จะระดมทุนมาทำ มันไม่ยั่งยืน

มันก็มีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าถ้าอย่างนั้นถ้าฉันทำธุรกิจเพื่อสังคมล่ะแล้วฉันจะทำยังไง ปัญหาก็คือว่ากฏหมายในอดีตมันไม่สนับสนุน สมมติว่าผมทำธุรกิจแล้วอยากจะไปบริจาค กฏหมายปัจจุบันมันให้บริจาคได้แค่ 10 %ของกำไร แล้วมันก็กำหนดด้วยว่าเอาไปบริจาคให้ใครได้บ้าง แล้วองค์กรที่รับเงินบริจาคต้องขึ้นทะเบียนเช่น กรณีเราบริจาคให้วัด บริจาคให้โรงเรียนอะไรอย่างนี้ มันก็เลยกลายเป็นปัญหา

ในขณะเดียวกันคนที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมเขาก็มองว่า ในเมื่อเขามีวัตถุประสงค์เพื่อสังคมก็ควรที่จะได้แต้มต่อในการที่จะไปแข่งกับธุรกิจอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่นบริษัทที่มีวัตถุประสงค์จะทำธุรกิจเพื่อลดขยะเอาขยะไปรีไซเคิลแล้วเกิดเป็นธุรกิจ เขาก็มองว่าในเมื่อเขาไปช่วยทำให้สังคมมันดีขึ้นก็ควรได้รับแต้มต่อ

ถามว่าแต้มต่ออะไรบ้าง 1.สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี ถ้าเป็นธุรกิจอื่น ๆอาจจะจ่ายภาษี 20 % ของกำไร ถ้าเป็นธุรกิจเพื่อสังคมขอไม่เป็น 20 % ได้หรือไม่เพราะว่าถ้าเป็น 20 % ของกำไรมันลำบาก หรือสิทธิประโยชน์อย่างอื่นเช่นเวลาขายของให้กับหน่วยงานภาครัฐ แทนที่รัฐจะไปซื้อของจากบริษัท ก.ที่หวังกำไรเป็นหลักให้แต้มต่อว่าถ้าซื้อจากบริษัทข.น่าจะได้ประโยชน์ก็น่าจะให้แต้มต่อ

ยกตัวอย่างเวลาซื้อสินค้าอย่างเช่นสินค้าเกษตร ระหว่างสินค้าเกษตรแบบใช้สารเคมีกับสินค้าเกษตรแบบธรรมชาติหรือเกษตรอินทรีย์น่าจะได้แต้มต่ออย่างนี้  เขาก็เลยบอกว่านอกจากเรื่องภาษีแล้วควรจะได้แต้มต่อตรงนี้ด้วย

ในขณะเดียวกันเขาก็มองว่าสังคมน่าจะส่งเสริมให้ธุรกิจแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ ๆ ก็ควรจะมีแต้มต่อในแง่ของการฝึกอบรมพัฒนาหรือการทำวิจัย ก็เลยเป็นที่มาว่าควรจะมีการส่งเสริม Social Enterprise ทีนี้ถ้าจะส่งเสริม Social Enterprise ก็เลยคิดว่าควรจะมีกฏหมายออกมาเพื่อรองรับ

ในขณะที่หน่วยงานอย่างสสส.โดยภารกิจเขานั้นก็มองเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะย้ำว่าไม่ใช่แค่สุขภาพ โดย“สุขภาวะ”หมายความรวมถึงสภาพแวดล้อมและอื่น ๆด้วย ทีนี้สสส.ก็จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาหน่วยงานหนึ่งใช้ชื่อว่า “สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม” ไม่มีกฏหมายรองรับเป็นการตั้งขึ้นมาลอย ๆโดยการใช้งบประมาณของสสส. แต่มีมติครม.ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ถ้าจำไม่ผิด)สนับสนุน แต่สามารถขับเคลื่อนไปได้แค่ระดับหนึ่ง

เสร็จแล้วก็ไปให้ทางกรมสรรพากรออกระเบียบแต่เนื่องจากว่าสรรพากรมองว่า “เอ๊ะถ้าคุณอยากจะมาลดหย่อนภาษีกับฉัน เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆก็ควรจะเป็นนิติบุคคล”  ฉะนั้นบริษัทหรือธุรกิจที่อยากจะทำเพื่อสังคมก็ต้องไปขึ้นทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชน นี่คือเรื่องเดิมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ก็เลยมีการวิจารณ์กันว่าถ้าอย่างนี้มันก็ไม่แน่นอนล่ะสิ เพราะขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลก็เลยมีแนวคิดอยากจะผลักดันให้ออกมาเป็นกฏหมาย ตอนนี้ก็เลยทำเป็นร่างพ.ร.บ.อยู่ในกระบวนการร่างพ.ร.บ.อยู่ นั่นคือในเชิงกฏหมายก็ว่ากันไป ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง

ล่าสุดมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา คิดว่าน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว จากนั้นก็จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเข้าสนช.ผลักดันให้เกิด สำหรับรายละเอียดของพ.ร.บ.ฉบับนี้จะเป็นอย่างไรมันไม่ใช่เรื่องที่ซีเรียส

ในมุมมองของผมนั้นคิดว่าเราควรคุยกันก็คือว่า วันนี้มันมีคนที่ทำงานเพื่อสังคมเยอะมากแล้วคนที่ทำงานเพื่อสังคมเหล่านี้ส่วนใหญ่เขาเริ่มต้นจากความฝันที่อยากจะให้สังคมดีขึ้นแล้วก็มาทำธุรกิจ อย่างธุรกิจบางธุรกิจเช่นเรื่องของการเอาเตียงคนไข้ เตียงผู้ป่วย หรืออุปกรณ์เกี่ยวกับผู้ป่วยมาแลก

สมมติว่าผมมีผมก็จะเอามาให้กับบริษัทนี้หรือธุรกิจนี้  วันหนึ่งมีคนอยากได้แต่ไม่มีเงินสามารถเอาไปใช้ได้ มันก็จะทำให้คนป่วย ครอบครัวคนป่วยเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่นกรณีเตียงสำหรับคนป่วยโดยที่ไม่ต้องไปซื้อหลาย ๆพันหรือหลาย ๆหมื่น เพราะคนที่ใช้เสร็จแล้วจบแล้วก็จบกันไปมันก็น่าจะหมุนเวียนได้อย่างนี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์ คนแบบนี้เขาเริ่มต้นด้วยความหวังที่อยากจะช่วยสังคมมาก

ซึ่งคนแบบนี้ส่วนใหญ่ในสังคมเยอะแต่ปัญหาคือคนกลุ่มนี้เขาเองไม่ได้คิดในเรื่องของ Business Model มันก็เหมือนเอสเอ็มอี อันนี้เป็นการตอบปัญหาว่าทำไมเรื่องนี้มันถึงมาอยู่กับสสว.เพราะสสว.มีภารกิจคือส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม คำว่า “วิสาหกิจ” ก็คือธุรกิจ สสว.ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งสสว.ก็จะส่งเสริมตั้งแต่คนที่อยากทำธุรกิจกับคนที่ทำธุรกิจแล้ว

เพราะฉะนั้นคนที่อยากเป็น Social Enterprise หรือวิสาหกิจเพื่อสังคมก็คือทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นสสว.ก็เลยมาส่งเสริม ส่งเสริมให้เขาเข้าใจว่าแค่ความฝันหรือความอยากไม่ได้ คุณต้องมีความเข้าใจด้วยว่าการทำธุรกิจมันควรทำแบบไหน อย่างไร คุณควรที่จะหาเงินมาหล่อเลี้ยงธุรกิจอย่างไรเพราะว่ามันไม่ใช่เอ็นจีโอแล้ว ถ้าเอ็นจีโอมันจะอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค มันต้องทำธุรกิจด้วยแต่มันไม่ได้เน้นเอากำไรเป็นหลัก

ยกตัวอย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้คือ คนที่มีเตียงจะบริจาค ๆยังไง  คนที่ไม่มีเตียงอยากรับของไปใช้จะรับยังไง มันฟรีไม่ได้เพราะคนทำมันมีต้นทุนใช่มั้ยคุณก็จะอยู่ไม่ได้ หรือคนที่อยากช่วยทำเรื่องกำจัดขยะ กำจัดเอาแบบง่าย ๆโมเดลที่มีก็คือคนที่อยากจะเอาขยะบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่มันจะมี 2 แบบคือ แบบหนึ่งคือรีไซเคิลไม่ได้ อีกแบบคือขยะบ้านที่สามารถรีไซเคิลได้โดยเฉพาะขยะจากครัวเอาไปทำปุ๋ย อย่างนี้ก็ต้องมี Business Model

ตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯก็ส่งเสริมเรื่องนี้ เขาใช้คำว่า Social Impact” จัดกิจกรรมดังกล่าวนี้มา 2-3 ปีแล้ว โดยแนวคิดของตลาดหลักทรัพย์ฯก็คือว่า บริษัทใหญ่ ๆแทนที่จะเอาเงินไปทำ CSR ซึ่งมันไม่ยั่งยืน เอามาสนับสนุนพวก Social Enterprise แล้วอันนี้จะเป็นภารกิจที่สำคัญ

ทีนี้มองให้ไกลไปอีกหน่อย เวลาเราพูดถึง Social Enterprise มันอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ดูแล้วมันเล็ก ๆหรือใหญ่ ๆก็ได้ มันอาจจะเป็นเรื่องที่ง่าย ๆอย่างที่เขาปลูกผักที่บ้านแต่ไม่ได้ปลูกเพื่อกิน เพราะปลูกผักที่บ้านเพื่อกินมันไม่ใช่ธุรกิจ แต่ปลูกผักที่บ้านเหลือแล้วเอาไปขายเป็นธุรกิจ มันก็จะมีคนทำ Social Enterprise แบบนี้ ส่งเสริมให้คนปลูกผักที่บ้านเสร็จแล้วถ้าคุณปลูกผักที่บ้านเสร็จ คุณใช้กินเองที่บ้านมีเหลือเอาไปขายโดยทำระบบเมมเบอร์

หรือไอเดียเช่น มีที่นาแทนที่จะให้ชาวนาปลูกไปแบบไร้ทิศทางหรือตามยถากรรม ก็แม็ตชิ่งหาคนที่อยากกินมาแม็ตกัน อันนี้เขาเรียกว่า Social Enterprise ชาวนาก็ปลูกข้าวหรือปลูกผักผลไม้ตามออเดอร์ของคนที่กิน โดยที่คนทำอาจจะไม่มีแปลงนาของตัวเองก็ได้หรืออาจจะมีแปลงนาของตัวเองก็ได้ อันนี้ก็คือ Social Enterprise ในมิติใหม่ซึ่งอาจจะเป็นตัวกลางก็ได้ใช่มั้ย คนที่ทำหน้าที่เป็น Platforms เป็นตัวกลางที่จะเชื่อมคนที่อยากมีกับคนที่อยากได้มาเจอกัน อยากมีกับมีมาเจอกัน

ยังไม่จบนะครับไว้มาตามกันต่อในตอนหน้ากับรายละเอียดที่เหลือ สำหรับเรื่องของ Social Enterprise ยังมีสาระสำคัญอีกมากมายแล้วพบกันใหม่ในตอนหน้าครับ กับเรื่องดี ๆที่ต้องเชียร์ครับ