เก็บตก Innovative startup 3 วันเติมฝันน.ศ. “ตอบโจทย์”เถ้าแก่ใหม่ (มีคลิป)

โดย ดร.โดม อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด

กลับมาคุยกันต่อหลังจากเมื่อวานนี้มีเหตุขัดข้องในบางประการสำหรับการออกอากาศ วันนี้ (23 ก.พ.) เรากลับมาคุยเหมือนเช่นเคย โดยทางผู้ดำเนินรายการได้หยิบประเด็นต่อเนื่องจากคราวที่แล้วสำหรับเรื่องของโครงการInnovative startup ที่ถูกจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี ซึ่งผมได้มีโอกาสพูดไปบ้างแล้ว

                ก็อยากจะเรียนต่อว่าการอบรมในครั้งนี้น้อง ๆหลายคนมีโครงการที่ดีมากนะครับ อย่างมีโครงการหนึ่งบอกว่า “เอาขยะมาแลกของ” ซึ่งโครงการนี้ก็น่าสนใจแต่ว่าก็ยังไม่ใหม่แต่ไอเดียน่าสนใจมากตรงที่ว่าเขาพยายามที่จะไปแก้ปัญหาของคนที่มีอยู่

ซึ่งต้องเข้าใจว่าเด็ก ๆ ส่วนใหญ่นั้นในแง่ของโลกทัศน์อาจจะไม่ได้รู้ว่าข้างนอกเขาทำอะไรกัน โดยเฉพาะสำหรับเด็กปี 1 ปี 2 ก็อาจจะยังไม่ได้สนใจอะไรเพราะฉะนั้นเวลาเขาคิดอะไรด้วยเวลาที่มันจำกัดเขาก็จะคิดจากสิ่งที่เราได้เห็นปัญหาข้างหน้า เหมือนโจทย์ที่ผมให้เป็นปัญหาของเขา

อย่างกรณีของโครงการขยะแลกเงินถามว่ามีคนทำอยู่หรือไม่ บอกเลยว่าใช่ จริง ๆไอเดียทั้งหมดมีคนทำอยู่แล้ว และต้องเรียนว่าคนไทยเองไม่ได้เป็นคนที่สร้างอะไรใหม่แล้วจริง ๆการเป็นสตาร์ทอัพก็ไม่จำเป็นต้องสร้างอะไรใหม่

สิ่งที่เรากำลังอยากให้เด็กเป็นผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพ คือการไปแก้ปัญหาของลูกค้าแล้วแก้ให้ได้ ถ้ามีคนทำอยู่แล้วก็ทำให้ดีขึ้นอาจจะยังทำได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือบางคนทำดีอยู่แล้วแต่ดีขึ้นได้อีกอย่างนี้ครับ เพราะฉะนั้นอันนี้เป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นและไม่จำเป็นต้องใหม่แบบถอดด้ามเพราะว่ามันยาก

ขอยกตัวอย่างอย่างปีที่แล้วผมมีโอกาสไปโค้ชให้นักศึกษาที่ส่งไปประกวด ซึ่งเป็นคนละรูปแบบที่ไปอบรมช่วง 3 วันที่ผ่านมา โดยช่วง 3 วันที่ผ่านมานั้นเป็นการอบรมที่ไม่ได้ส่งประกวดเป็นแค่ทำให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจว่าการเป็นผู้ประกอบการ การเป็นสตาร์ทอัพเป็นอย่างไร แต่ปีที่แล้วที่ส่งเข้าประกวดปรากฏว่าผลงานที่ส่งเข้าประกวดถามว่ามันใหม่ในโลกนี้หรือไม่ บอกเลยว่าไม่ แล้วใหม่ในเมืองไทยหรือไม่แน่นอนว่าใหม่ในเมืองไทยหลายโครงการ แต่ว่าพอไปค้นแล้วเอ๊ะมีที่โน่นที่นี่ทำ

ขอเรียนเพิ่มเติมครับว่าแล้วทำไมเราต้องส่งเสริม เพราะการส่งเสริมบางอย่างเพื่อให้ความสามารถของผู้ประกอบการไทยดีขึ้นแล้วก็ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพราะฉะนั้นไม่เช่นนั้นเราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศต้องนำเข้ามาตลอด ต้องสูญเสียเงินตราไปต่างประเทศอย่างเดียวถูกมั้ยครับ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่น้อง ๆเข้าร่วมโครงการอย่างล่าสุด 14 ทีม ผมมองว่าส่วนใหญ่ผมพอใจนะครับกับเวลาแค่ 3 วัน แล้วน้องส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนทางด้านบริหารธุรกิจคือเรียนทางด้านพวกวิศวะฯ เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก เพราะฉะนั้นทำให้เขาแค่เข้าใจมุมมองของการเป็นผู้ประกอบการ เข้าใจว่าเวลาที่จะคิดอะไรเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามันต้องคิดอะไรบ้าง

เวลาเขานำเสนอเขาจะไม่ใช่นำเสนอว่าทำไมต้องทำโปรดักส์หรือทำเซอร์วิสนี้ เขาต้องตอบให้ได้ว่าโปรดักส์หรือเซอร์วิสนี้ไปแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างไร ทำให้ลูกค้าดีขึ้นพึงพอใจได้อย่างไร จะมีวิธีการที่จะสื่อสารให้ลูกค้ารู้ได้อย่างไรบ้าง สามารถที่จะจัดจำหน่ายขายให้ลูกค้าได้แบบไหน

สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างไรและหารายได้แบบไหนนะครับ รวมทั้งต้องใช้ทรัพยากรอะไรบ้างในการมาทำโดยเฉพาะทรัพยากรหลัก ๆ มีกิจกรรมหลักอะไร ต้องหาพาร์ทเนอร์แบบไหนมาช่วย  ทำให้สิ่งที่คิดมันประสบความสำเร็จรวมทั้งคิดเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งมี 9 เรื่องเลยนะครับไม่ใช่คิดแค่ทำอะไรแล้วมันจบ

เพราะฉะนั้นในระยะเวลา 3 วันของการจัดงานในครั้งนี้ ผมคิดว่าน้อง ๆเองก็ทำได้ดีเพียงแต่ว่าบางคนเขาอาจจะได้จุดเด่นบางเรื่อง บอกเลยว่าน้อง ๆที่มาจุดเด่นเรื่องโปรดักส์เป็นจุดเด่นที่สุดเพราะว่าน้องส่วนใหญ่มาในสายเทคโนโลยี วิศวะฯเพราะฉะนั้นเวลานำเสนอในเชิงเทคนิคก็โอเค คือตัวโปรดักส์ชัดเจน ส่วนตัวลูกค้าเนื่องจากว่าเราก็พยายามให้มันสโคปอยู่ในอะไรที่มันใกล้มหาวิทยาลัยเขาก็คิดได้ชัดเจนนะครับ

แต่พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจเพียว ๆแล้วอันนี้เขาจะต้องฝึกฝนเยอะ แต่หลายคนเขาจะเอาไปทำต่ออย่างโครงการขยะแลกเงินเขาจะไปพัฒนาต่อนะครับ ซึ่งผมคิดว่าสำหรับเด็กแบบนี้เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยควรส่งเสริมก็ทราบมาว่าทางราชมงคล ธัญบุรีเองก็มีกิจกรรมแบบนี้ตลอดเวลา ก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าดีใจครับแล้วก็เรียนรู้กันตั้งแต่ปี 1 ปี 2 นี่ก็เป็นบรรยากาศการเข้าอบรมในโครงการ Innovative startup อีกหนึ่งโครงการดี ๆสร้างผู้ประกอบการรายใหม่หรือกลุ่ม Startup ขึ้นมา

ก่อนจากกันในวันนี้ผมขอฝากท่านผู้ฟังที่สนใจเรื่องที่ผมพูดถึง Business Model ตอนนี้ผมเองเปิดเพจชื่อ Digital Business Consult ในนั้นผมได้ทำซีรีย์เรื่อง Business Model เอาไว้ตอนนี้ก็น่าจะ 12 ตอนแล้วนะครับก็สามารถเข้าไปฟังไปดูย้อนหลังกันได้ รวมทั้งรายการ SME CHAMPION ก็จะมีบทสรุปถอดบทความสัมภาษณ์พูดคุยกันออกมาเผื่อท่านไหนบอกว่าอยากจะอ่านเป็นตัวหนังสือ บางทีไม่มีช่วงจังหวะในการนั่งฟังก็สามารถอ่านบทความนี้กันได้ ซึ่งทางทีมงานก็จะมีการถอดบทความในแต่ละเรื่องให้ผู้ฟังได้ติดตามได้อ่านกันด้วยเช่นเดียวกันนะครับ