ชัดๆ….ทำไมธุรกิจไม่จดจัดตั้งบริษัท????

โดย ดร.โดม อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด

กลับมาพบกันเหมือนเช่นเคยทุกวันจันทร์-ศุกร์ กับช่วงเวลาดี ๆในรายการ SME CHAMPION ทางคลื่น FM. 89.5 สถานีวิทยุราชมงคล วันนี้ (27ก.พ.)ทางผู้ดำเนินรายการยังคงมีประเด็นมาชวนพูดคุยในรยการโดยตั้งข้อสังเกตถึงการทำธุรกิจของผู้ประกอบการบางรายที่ดูว่ามีความพร้อมสามารถจะจัดตั้งเป็นบริษัทได้แต่กลับปรากฏว่าเจ้าของกิจการเหล่านั้นกลับไม่สนใจตั้งบริษัท แถมยังดำเนินธุรกิจในลักษณะของการเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฟังแล้วเป็นเรื่องน่าคิดนะครับ

ก่อนอื่นอยากเรียนว่าเราต้องเข้าใจว่าโดยพื้นฐานของคนไทยเองไม่ได้เป็นคนค้าขายอันนี้เป็นเรื่องแรก อันที่สองคือเรานั้นถ้าเห็นคนที่ประสบความสำเร็จก็อยากจะเข้าไป Joy กับเขา ทีนี้คำถามก็คือคนที่ประสบความสำเร็จทำไมเขาถึงไม่ตั้งบริษัทล่ะ….???

ก็ต้องขอเรียนอย่างนี้ครับว่าระบบของกฏหมายไทยนั้นการจดจัดตั้งบริษัทไม่ยากครับ แต่ต้นทุนในการทำรูปแบบเป็นนิติบุคคลเป็นบริษัทซึ่งก็คือเรื่องของระบบภาษี ที่จะต้องมีพนักงานบัญชี มีผู้ตรวจสอบบัญชี พอเป็นบริษัทก็ต้องทำระบบบัญชีให้มันถูกต้องตามสรรพากรก็ต้องมีพนักงานบัญชีก็ต้องมีเงินจ้างพนักงานบัญชี กรณีที่ไม่จำเป็นก็อาจจะ Out Source ตรงนี้ให้คนทำบัญชีได้ ก็ต้องมีการตรวจสอบอีก

ทีนี้ทุกครั้งที่มีการซื้อขายสินค้าก็ต้องมีการบันทึกรายรับรายจ่าย ต้องส่งสรรพากรทุกเดือนทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรับจ้างก็ต้องมีหัก ณ ที่จ่ายอันนี้เป็นภาระ เคยมีตัวเลขของสรรพากรที่ทางท่านปลัดกระทรวงการคลังได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าต้นทุนในการทำธุรกิจของนิติบุคคลไทยที่เกี่ยวกับภาษีประมาณ 2 แสนกว่าบาทต่อปี คือเดือนหนึ่งประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท

สมมติว่าถ้าธุรกิจของเรามีกำไรปกติไม่ต้องมาก คิดเป็น 20 % ซึ่ง 20 % นั้นถ้าเราต้องจ่าย 2 แสนต่อปีถามว่ามันจูงใจมั้ย จูงใจนะเพราะว่าเราขายได้ล้านนึงต่อปีเราเพิ่งกำไร 2 แสนถูกมั้ยแต่ว่าเราต้องขายมากกว่าเพื่อให้ต้นทุนภาษีมันต่ำที่สุดก็คือต้นทุนภาษีประมาณสัก 5 % ก็ต้องอยู่ที่ประมาณ 5 ล้าน

10 % มันต้องประมาณ 10 ล้าน 10 ล้านยังเท่ากับ 2 % ถูกมั้ย 2 แสน ต้อง 4 ล้านถึงจะได้ 5 % เพราะฉะนั้นต้นทุนแบบนี้มันก็เป็นต้นทุนที่อย่างวิสาหกิจชุมชนเขาก็ต้องมาคิดแล้วว่าปีหนึ่งฉันขายได้ของฉัน 4 ล้าน กำไรได้มั้ยเป็นค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้ แล้วก็ถ้ามันยังไม่ถึงแปลว่าฉันก็ยังไม่จำเป็นนะ อันนี้คือเรื่องหนึ่งนะ

เรื่องที่สองก็คือว่า เนื่องจากการเริ่มต้นทำธุรกิจมันมีความเสี่ยง โอเคคุณอาจจะทำมาระยะหนึ่งจนคุณรู้สึกว่าไม่มีความเสี่ยงแล้ว แต่จริง ๆไม่ใช่นะธุรกิจมันก็ยังมีความเสี่ยงตลอดเวลา การจดเลิกก็กลายเป็นอีกภาระหนึ่ง จดบริษัทว่าง่ายดำเนินธุรกิจยากแต่จดเลิกนี่ยากกว่าอีกใช่มั้ยครับ

ตรงนี้ก็เลยทำให้หลาย ๆคนเขามองว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่ระบบภาษี แล้วถ้าเป็นวิสาหกิจชุมชนจริง ๆก็ได้สิทธิพิเศษจากรัฐบาลพอสมควร เพียงแต่ว่าไม่ได้สิทธิพิเศษหลายอย่าง อย่างกรณีของโอทอปปีที่แล้วที่เราเคยคุยกัน

กรณีที่รัฐบาลมีนโยบายหักลดหย่อนได้ถ้าซื้อสินค้าโอทอปจำได้มั้ยครับ สิ่งที่โอทอปหลายรายพลาดไปก็คือว่าไม่ได้อยู่ในระบบภาษี พอไม่ได้อยู่ในระบบภาษีทำให้ไม่สามารถออกใบกำกับภาษีให้ได้คนก็ไม่ซื้อเพราะว่าไม่สามารถเอาไปหักลดหย่อนได้ อันนี้ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการเองก็ต้องชั่งใจว่าเอ๊ะอันไหนมันคุ้มค่ากว่ากัน

ทีนี้ถ้าสมมติมีรายได้เป็น 10 ล้าน 20 ล้าน โอกาสที่จะเข้าระบบภาษีมันก็มีมากขึ้น ทีนี้ในอนาคตเวลาทำธุรกิจถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องเข้าขอสินเชื่อจากธนาคารใช่มั้ยครับ ตอนนี้แบงค์ชาติก็บังคับกับธนาคารต่างๆว่าต้องเป็นนิติบุคคลถ้าเป็นสินเชื่อธุรกิจนะครับ แล้วสรรพากรก็ให้ทำบัญชีเดียว

คือทุกอย่างมันจะเริ่มวนกลับมาผลักให้คนเข้าสู่ระบบนิติบุคคลมากขึ้น รัฐก็จะได้เก็บภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย จริง ๆผู้ประกอบการหลายท่านถ้าเป็นนิติบุคคลมันก็จะสามารถที่จะเคลมภาษีซื้อได้แต่ว่าพอเคลมภาษีซื้อได้มันก็ต้องไปหักกับภาษีขายถูกมั้ยครับ เพราะฉะนั้นผมว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจนะครับ

พอรัฐบาลเองอย่างท่านปลัดสมชัย สัจจพงษ์ พูดถึงว่ารัฐบาลต้องพยายามลดหย่อนให้ได้ ลดหย่อนตัวภาระภาษีปีละ 2 แสนกว่าบาทลงมาให้ได้อีกต่ำกว่านั้น ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่รัฐต้องไปคิด ไม่เช่นนั้นมันไม่สร้างแรงจูงใจให้คนเข้าสู่ระบบภาษี

ทีนี้ถามว่าแล้วจดเป็นนิติบุคคลต้องเสียภาษีเลยหรือเปล่า กรณีรายได้ไม่ถึง  1.8 ล้านไม่ต้องจดแวตแต่ว่าในแง่ของตัวภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ยังต้องทำอยู่ เพาระฉะนั้นสมมติว่าเราขายได้แค่ล้านเดียวต่อปีแต่เป็นบริษัทจำกัดเราก็ต้องมีคนทำภาษี ก็ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีอยู่ดี นี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น

ผมมองว่าในระยะยาวจำเป็นแต่ว่ากรณีที่ยังเป็นระยะสั้นเรื่องพวกนี้มันรอได้ก็รอก่อน ในช่วงปีแรกผมคิดว่าถ้าธุรกิจเราไม่ได้เป็นธุรกิจที่ต้องแบบดิวกับพวกเป็นไปในลักษณะบีทูบี เป็นบีทูซีคือเราไม่ได้ขายให้กับองค์กรธุรกิจหรือหน่วยงานราชการยังไม่จดเป็นนิติบุคคลก็น่าจะเป็นไปได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราต้องทำธุรกิจกับนิติบุคคลอื่นมันจะถูกบังคับให้จดเป็นนิติบุคคลโดยทันทีเลย เพราะว่าทางฝั่งโน้นเขาก็ต้องเอาเงินได้ไปคิดต้นทุน หักภาษีของเขาเหมือนกันใช่มั้ยครับ