ต้นทุนภาษีถึงเปลี่ยนโปรฯมือถือ เรื่องสะกิดกวนใจ “เอสเอ็มอี” ???

    โดย ดร.โดม อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด

เมื่อวานนี้ทางผู้ดำเนินรายการได้หยิบประเด็นคุยเรื่องของภาษี รวมถึงเรื่องบริษัทที่บอกว่ายังมีบริษัทที่เป็นรูปแบบของบุคคลธรรมดา และคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนที่จดเป็นนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และวิสาหกิจชุมชน พร้อมคำถามที่ว่าทำไมเขาไม่พัฒนาไปเป็นบริษัทเลย วันนี้ (28 ก.พ.)เรากลับมาคุยกันต่อในรายการ SME CHAMPION ทางคลื่น FM. 89.5 สถานีวิทยุราชมงคล สืบเนื่องต่อจากครั้งที่แล้ว

ต้องเรียนนะครับว่าต้นทุนภาษี 2 แสนกว่าต่อปีไม่ใช่ครั้งเดียว คือไม่ต้องมีรายได้อะไรก็ 2 แสนกว่า คือมันเป็นรายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายให้กับพนักงานบัญชี ต้นทุนในการส่งภาษี ส่งงบเปล่าใช่มั้ยครับ ผู้ตรวจสอบบัญชีที่ต้องมาเซ็นงบ สิ่งต่าง ๆพวกนี้ทั้งหมดมันคือสิ่งที่ต้องจ่ายซึ่งเราก็คำนวณกันแปลว่าคุณต้องมีเงินหลายล้าน มันต้องมีรายได้เยอะมากถึงจะคุ้ม

อย่างน้อยต้องมี 4-5 ล้านมันถึงจะคุ้มอันนี้ก็เป็นปัญหาของการทำธุรกิจในเมืองไทย แล้วถ้ามัน Fail ขึ้นมาจดเลิกก็ยากอีก แล้วเวลาพอจดเป็นบริษัทการไปทำบางเรื่องยุ่งมากเลยครับ ผมขอยกตัวอย่างเรื่องที่ง่ายที่สุดเลยคือทำไมเอสเอ็มอีหลาย ๆบริษัทเวลาขอใช้มือถือต้องใช้บุคคลขอไม่ใช้บริษัทขอ เพราะอะไรรู้เปล่า…???

เวลาเปลี่ยนโปรโมชั่นหรืออะไรยากมากกว่าจะเอาเอกสารจัดตั้งบริษัทโน่นนี่นั่นไปยื่น แค่จะเปลี่ยนโปรโมชั่นมันยังไม่ง่ายเลย ผมก็เคยถามไปทั้งค่ายทรู เอไอเอส ดีแทค บอกลูกค้า Corporate ของเขาน้อยมากเลยเพราะพอเป็นเอสเอ็มอีปุ๊บต้องเป็นนิติบุคคลหมด บุคคลธรรมดาไม่เข้าข่ายเอสเอ็มอีในความหมายของพวกเทเลคอม แล้วจะยังไงล่ะมันเลยยุ่ง พอเทเลคอมบอกไม่เอา “ยุ่ง” สิทธิพิเศษหลายอย่างที่อยากได้ก็ไม่ได้

ผมก็ไม่รู้แล้วจริง ๆโทรศัพท์มันไม่กี่บาทสำหรับค่าโทรศัพท์ แต่ว่าในแง่ของเอสเอ็มอีมันคือความประหยัด เวลาเห็นโปรโมชั่นดี ๆไปเจรจาขอเปลี่ยนโปรโมชั่นต้องนำสำเนาหลาย ๆฉบับกว่าจะไปยื่นได้  นี่ก็คือปัญหา ???

เพราะฉะนั้นอย่างที่เมื่อวานที่เราทิ้งท้ายกันว่า จริง ๆแล้วก็ควรตอบโจทย์ใช่มั้ยครับ เพียงแต่ว่ารัฐตอนนี้เขาก็แก้ของเขา ภาครัฐก็พยายามไล่แก้อยู่ทั้งเรื่องเงื่อนไขข้อระเบียบต่าง ๆ เราก็ดูได้จากเรื่อง Doing Business ที่มีการสำรวจกันทั่วโลกใช่มั้ย อันดับความสะดวกในการทำธุรกิจของไทยอันดับมันก็ดีขึ้นเรื่อย ๆก็แปลว่ากฏหมาย เงื่อนไข ข้อจำกัดอะไรพวกนี้มันก็ถูกลดทอนให้มันเหลือน้อยลง แล้วพวกนี้เวลาวัดมันวัดทั่วโลกไม่ใช่วัดเฉพาะเมืองไทย

แล้วก็อย่างเรื่องของค่าใช้จ่ายเวลาเป็นนิติบุคคล 2 แสนกว่าบาทต่อปีอันนี้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นคนพูดเองแปลว่ารัฐบาลรู้แล้วรัฐบาลกำลังแก้ไขนะครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรามองเราก็มองว่ามันก็ต้องรีบใช่มั้ย เพราะไม่เช่นนั้นหลายอย่างเรายังพึ่งพากฏเกณฑ์ระเบียบทางราชการมันก็ใช้เวลาสักนิดนึง จริง ๆมันจะมีหลายโปรเจคหลายโครงการนะ เห็นว่ารัฐบาลเองจะมีโปรเจ็คเกี่ยวกับเรื่องเอสเอ็มอีอีกหลายมาตรการกลางเดือนหน้าก็จะประกาศนะครับ

ตอนนี้ทุกคนก็พูดถึงว่าเอสเอ็มอีมันคือหัวใจในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตัวเลขล่าสุดตอนนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยที่จดทะเบียน ไม่ทะเบียนรวมกันมันก็ 3 ล้านกว่า แปลว่ามันก็เพิ่มขึ้นพอสมควร เพราะความง่ายในแง่การทำธุรกิจมันง่ายมาก

อย่างวันก่อนที่ไปกับผู้ดำเนินรายการไปบรรยายให้กับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรีในโครงการ  Innovative startup เด็กปี 1ขายครีมออนไลน์ไปต่างประเทศ พูดถึงวิธีการโอนตังค์รู้หมด Western Union แบบนั้นแบบนี้รู้หมด เห็นมั้ยเด็กปี 1 มีความรู้เรื่องการทำธูรกิจนะครับถามว่าแล้วภาษาอังกฤษล่ะบอกไม่เป็นไรมี Google ก็ Google มันมี Google translate ใช่มั้ย ใส่ข้อความลงไปแล้วก็แปล ง่าย

หรืออย่างกรณี Facebook มันมีแปลอัตโนมัติให้นะ ถ้าตั้งให้แปลอัตโนมัติที่ Facebook แปลว่าใครโพสต์เป็นภาษาอังกฤษถึงเรามันแปลเป็นไทยเลยครับ ตัวข้อความเหล่านี้มันแปลเป็นไทยเลยครับ เราโพสต์เป็นภาษาไทยถ้าเขาอ่านจะอ่านเป็นภาษาอังกฤษถ้าเขาเป็นประเทศใช้ภาษาอังกฤษนะ ตอนนี้มันง่ายมาก

เพราะฉะนั้นตอนนี้เราก็ต้องส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ๆมันก็จะเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลผมเชื่อว่าไม่ใช่ประเด็นหลักตอนเริ่มต้นทำธุรกิจ แต่ว่าท้ายที่สุดแล้วมันก็ต้องจดถ้าคุณคิดว่าทำในระยะยาว เพราะถ้าต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ ต้องการสิทธิพิเศษ สิทธิประโยชน์ก็ต้องจด ซึ่งแนวโน้มมันก็ออกจะออกในแนวนั้น