“Ebitda” สำคัญต่อธุรกิจอย่างไร??? (มีคลิป)

โดย ดร.โดม อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด

กลับมาคุยกันต่อครับในรายการ SME CHAMPION ทางคลื่น FM. 89.5 สถานีวิทยุราชมงคลสวัสดีประจำวันที่ 5 มี.ค สำหรับประเด็นการพูดคุยในวันนี้ทางผู้ดำเนินรายการยังคงเกาะติดเรื่องของธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังอย่าง “คาราบาวแดง” หลังจากที่ได้คุยกันไปบ้างแล้วเมื่อวานถึงทิศทางการลงทุนในธุรกิจของเขา ก่อนจะจบทิ้งท้ายฝากประเด็นเรื่องของคำว่า “Ebitda” ว่าคำนี้มันคืออะไร และมีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างไร

ก็ต้องขอเรียนว่าจริง ๆแล้วเวลาคนไปลงทุนทำธุรกิจ ในแง่ของตัวบัญชี งบกำไรขาดทุนก็จะมีเรื่องของต้นทุนใช่มั้ยครับ มีเรื่องค่าใช้จ่ายในการขายเกิดขึ้นแล้วก็มีค่าบริหารงาน อันนี้คือทุกธุรกิจก็จะมีแบบนี้ทีนี้ธุรกิจที่เป็นโรงงานด้วยก็จะต้องมีการลงทุนสร้างโรงงาน ธุรกิจผลิตสินค้าเพื่อขายก็ต้องมีการสร้างโรงงาน อย่างกรณีของคาราบาวแดงก็มีการสร้างโรงงานในไทย สร้างโรงงานในกัมพูชา สร้างโรงงานในพม่า แล้วก็ไปสร้างโรงงานในอังกฤษ

ทีนี้เวลาสร้างโรงงานมันก็จะมีสินทรัพย์ถาวร ซึ่งก็คือตัวโรงงานและเครื่องจักร ซึ่งโดยปกติในแง่ของการบัญชีสมมติว่าเราสร้างโรงงานไป 100 ล้าน ซื้อเครื่องจักรมา 2 ตัว ๆละ 50 ล้านเป็น 200 ล้าน คำถามคือเราเอาเงิน 200 ล้านไปหักจากงบดุลในปีนั้นเลยหรือไม่คำตอบคือไม่ และไม่ได้หักทีเดียวทั้ง 200 ล้าน เรามาตัดเป็นค่าเสื่อม เนื่องจากผมไม่ได้จบทางบัญชีการเงิน ค่าเสื่อมมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสินทรัพย์ถาวรประเภทไหน 5 ปี 10 ปี 15 ปี 20 ปี ซึ่งรายละเอียดผมไม่ทราบ

แต่ที่เป็นประเด็นคือว่า ถ้าเป็นสินทรัพย์ถาวรจะมีตัดค่าเสื่อมทันที ฉะนั้นพอตัดค่าเสื่อมปุ๊บในแง่ของตัวเงินมันก็จะไม่ได้สะท้อนจริง ๆตอนนั้น  เพราะว่าเงินที่เข้าสมมติว่าปีนั้นเรามีรายได้ 1,000 แต่ว่าต้นทุนขายหรือว่าค่าใช้จ่ายของเราสมมติว่ามีประมาณ 600 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าเรามีการลงทุนในโรงงานอีกประมาณ 200 จริง ๆเงินของเราเหลืออยู่แค่ 800  ถูกมั้ย

แต่ว่าเวลาไปคิดในแง่ของตัว Ebitda นั้น มันก็จะต้องบวกค่าเสื่อมกลับไปก็คือว่าเอากำไรขั้นต้นลบค่าใช้จ่ายในการขายนะครับ (กำไรขั้นต้นเกิดมาจากยอดขายลบต้นทุนขาย) พอเราเอากำไรขั้นต้นมาหักค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารก็เท่ากับกำไรจากการดำเนินงานเรียกว่า Ebit นะครับ ทีนี้บวกค่าเสื่อมและตัดค่าใช้จ่ายที่มันเกิดจากพวกค่าเสื่อมมันก็เรียกว่าเป็น Ebitda

เพราะเนื่องจากว่าค่าเสื่อมนั้นมันไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนที่จ่ายออกไปจริง เพราะฉะนั้นจึงทำให้ผลประกอบการมันดีขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่ทางบัญชีเขาดู เพราะว่าเนื่องจากว่าธุรกิจที่มันมีการลงทุนในสินทรัพย์มันอาจจะไม่ได้กำไรในปีแรก ๆของการลงทุน

ซึ่งโรงงานยังไม่ค่อยเท่าไหร่ตัวที่ซีเรียสมากเลยคืออะไรรู้หรือไม่ ?? อย่างพวกที่สร้างทางด่วนหรือรถไฟฟ้าอันนี้ค่าเสื่อมมันจะยาวกว่านี้ ทีนี้ถามว่าพวกนี้ใครที่ต้องดูบ้างส่วนใหญ่คนที่ดูคือคนที่เป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นเพราะว่าเขาอยากดูผลประกอบการของบริษัทจริง ๆครับเพราะว่ากระแสเงินสดนี่เงินมันหายไปแล้วตั้งแต่ปีแรกที่ลงทุนถูกมั้ย เสร็จแล้วมันก็ค่อย ๆมาหักค่าเสื่อม ๆ ๆ ฉะนั้นกำไรหรืองบดุลหรืองบกำไรขาดทุนของบริษัทเวลาปีแรกเงินมันจะหายไปเยอะ ปีต่อ ๆมาเงินก็ไม่ได้หายไปแล้วใช่มั้ยแต่ว่าในแง่ของงบกำไรขาดทุนมันค่อย ๆตัดพวกนี้บวกกลับเข้าไปแล้วมันก็จะรู้ว่ากำไรมีเงินจริง ๆเท่าไหร่

แต่ว่าที่เราสะท้อนให้เห็นคืออะไรรู้เปล่า  ตอนนี้ในเครื่องดื่มชูกำลังทั้งหมดมีตัวคาราบาวแดงที่เข้าตลาดนะ ส่วนเอ็ม 100 เอ็ม 150 ยังไม่เข้าถ้าผมจำไม่ผิด ลิโพก็ยังไม่ได้เข้า กระทิงแดงก็ไม่ได้เข้า พอไม่ได้เข้าตลาดแปลว่าอะไรครับ พวกนี้จะมีต้นทุนสูงมากในการที่จะขยายธุรกิจ

เพราะว่าการขยายธุรกิจมันต้องใช้เงิน 1.คือเงินของตัวเองโดยมันจะมาจาก 2 ส่วนส่วนแรกคือกำไรสะสม คือทำธุรกิจแล้วมีกำไรแล้วยังไม่ได้ปันผลให้หมดก็จะมีกำไรสะสมถูกมั้ย อีกส่วนหนึ่งคือ มาจากเวลาขายหุ้นในตลาดแล้วบริษัทได้เงินเยอะ ผมไม่แน่ใจเนื่องจากว่าผมไม่ได้เล่นหุ้นคือมันเหมือนมูลค่าส่วนเกินของหุ้นที่บริษัทได้เก็บไว้จากการระดมทุน ซึ่งเดี๋ยวคืนนี้ผมจะให้สัมภาษณ์กับทีมงานเกี่ยวกับเรื่องของอาฟเตอร์ยู อาฟเตอร์ยูเนี่ยหุ้นมูลค่า 10 สตางค์วันที่เข้าตลาดแต่นี่ 4.50 บาท แปลว่า 45 เท่านะเพราะฉะนั้นได้เงิน 700 กว่าล้านเข้าบริษัท

เหมือนกันครับคาราบาวแดงก็จะได้เงินตรงนี้เยอะ อันแรกคือได้เงินจากภายในบริษัทเองคือกำไรสะสมกับที่ขายหุ้นใช่มั้ย อีกอันหนึ่งคือมาจากการกู้ ทีนี้ถ้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นี่ข้อได้เปรียบของการกู้คืออัตราดอกเบี้ยมันต่ำกว่าที่ไม่ได้อยู่ในบริษัทตลาดหลักทรัพย์ เพราะว่าแบงค์จะถือว่าบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯมีความน่าเชื่อถือ มีเครดิต มีหลักทรัพย์อย่างน้อยก็เป็นหุ้น นอกจากทรัพย์สินอื่นแล้วนะเช่นที่ดินหรืออะไรแล้วนะตัวหุ้นมันวัด Performance ของบริษัทได้ คือผลประกอบการดีหุ้นมันต้องดี แบงค์ก็กล้าปล่อยกู้ อันนี้คุยแบบง่าย ๆ

เพราะฉะนั้นคาราบาวแดงก็เลยมีเงินเยอะไปเพิ่มทุนเอาเข้าตลาด จริง ๆบริษัทอื่นก็มีนะแต่ส่วนใหญ่เป็นกำไรสะสม แต่ว่าคาราบาวแดงไม่ใช่กำไรสะสมกำไรก็ยังปันผลให้ผู้ถือหุ้น เพราะฉะนั้นผู้ถือหุ้นก็ไม่ค่อยซีเรียสกับเงินก้อนนี้ไง เพราะเงินก้อนนี้เอาไปจ่ายปันผลไม่ได้ เงินจาการขายหุ้นบอกว่าจะเอาไปลงทุนก็ต้องเอาไปลงทุนใช่มั้ย เพราะฉะนั้นเขาขยายธุรกิจแหลกเลย พอขยายธุรกิจแหลกมันก็จะทำให้ในระยะยาวเขามองธุรกิจระยะยาวได้ สังเกตหรือไม่ว่าธุรกิจของไทยที่ทำเครื่องดื่มชูกำลังยกเว้นกระทิงแดงนะที่ไปเป็นเรดบลูนะ ที่เหลือมีขายต่างประเทศหมดนะไม่ใช่ไม่มีขายนะ พวกลิโพ เอ็ม 100 เอ็ม 150 พวกนี้มีขายต่างประเทศหมดครับ เพียงแต่ว่าที่ลงไปตั้งโรงงานเลยแล้วทำจริง ๆ จัง ๆแบบคาราบาวแดงนั้น ผมเข้าใจว่ามีคาราบาวแดง อันนี้เป็นจุดได้เปรียบของเขา ในแง่ของการทำธุรกิจครับ

ทางผู้ดำเนินรายการยังได้ถามว่านั้นแสดงว่าถ้าเป็นร้านเล็ก ๆตัว EBITDA มันก็ไม่ค่อยจำเป็นใช่หรือไม่ ก็ขอเรียนว่าจริง ๆแล้วสำหรับตัวผู้ประกอบการอาจจะมาดูได้ ถ้าเราไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น การดูตัวนี้ของเราก็ดูของเราเอง เราดูเมื่อไหร่ก็ได้ใช่มั้ย เราจะดูงบดุลงบกำไรขาดทุน เราจะดู EBIT หรือ EBITDAเอง ดูงบกระแสเงินสดพวกนี้เราดูได้หมดอยู่แล้ว คือถามว่าจำเป็นมั้ยก็จำเป็นแต่ว่าเราวัดของเราเอง มันก็ดูเป็นดีกว่าดูไม่เป็น

แต่จุดที่สำคัญผมคิดว่าสำหรับผู้ประกอบการ สิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะเอสเอ็มอีนะครับ ตัวกระแสเงินสดเป็นเรื่องสำคัญสุดเพราะว่ารับกับจ่ายมันต้องบาลานซ์กัน อย่างน้อยต้องบาลานซ์ในแต่ละเดือนไม่งั้นเงินช็อต พอเงินช็อตก็ต้องไปกู้ใช่มั้ยครับ พอไปกู้ก็จะมีประเด็น

ทีนี้ตัวงบการเงินพวกนี้ที่มันมากกว่าแค่กระแสเงินสดมันคือสิ่งที่เวลาเราจะขยายธุรกิจแล้วเราจำเป็นจะต้องหาคนมาร่วมลงทุน เวลาเราจำเป็นจะต้องไปขอสินเชื่อธุรกิจพวกนี้แบงค์ดูครับ ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินทั้งหลายแบงค์ดูเพราะว่าแบงค์จะเอาไว้ประเมินว่าโอเคปล่อยกู้แล้วเป็นยังไงบ้าง จะมีปัญหาหรือเปล่าอะไรอย่างนี้ ถ้าคุยเรื่องของอัตราส่วนทางการเงินคงต้องคุยกันหลายตัวเลยครับเพราะมีตัวที่เกี่ยวพันกันเยอะมาก

อันนี้ก็ต้องสารภาพว่าจริง ๆแล้วเป็นสิ่งที่ผมเกลียดที่สุด แล้วก็จะมีความเข้าใจพอประมาณไม่ได้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ขออนุญาตว่าไว้ผมเชิญคนสมาพันธ์มาเล่าเรื่องให้ฟังเลยดีกว่า พอดีในสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเราก็มีกรรมการสมาพันธ์ที่มาจากสภาวิชาชีพบัญชี เพราะว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับพวกบัญชีการเงินไม่เหมือนกัน การเงินก็แบบหนึ่งบัญชีเขาดูอีกตัวเลขหนึ่ง แต่ว่าตัวเลขของสองกลุ่มนี้จะสัมพันธ์กัน

แต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีถามว่าเรื่องนี้ซีเรียสมั้ย ซีเรียสบางคนเขาบอกว่าเป็นอันดับหนึ่ง บางคนก็บอกว่าเป็นอันดับสองสลับกันเรื่องการตลาด การขาย เพราะว่าถ้าคุณขายของดีแล้ว ๆคุณเก่งเรื่องบัญชีการเงินด้วยชีวิตก็จะดี แต่ถ้าคุณขายของดีคุณไม่เก่งเรื่องบัญชีการเงินคุณอาจจะเจ๊งได้ เพราะว่าบริหารเงินไม่เป็นนะครับ

ถามว่าการดูตัวเลข การวางเงิน หรือคำนวณคาดการณ์มันยากหรือไม่ถ้าเราไม่มีข้อมูล ก็ต้องเรียนว่า ใช่ครับ จริง ๆแล้วปัญหาของผู้ประกอบการมันง่าย ๆเลย ส่วนใหญ่ขายของเพลินจนลืมดูตัวเลขทางการเงิน บางทีต้นทุนสินค้ามันแพงขึ้น ตัวเลขง่าย ๆเลยผู้ประกอบการเวลาซื้อของก็จะถูกหลอกล่อด้วยส่วนลดการซื้อ เช่นซื้อน็อต 100 ตัว ๆละ 1,000 บาท 100 ตัวก็หนึ่งแสน ถ้าซื้อน็อต 200 ตัวนี่ก็จะเหลือ 800 บาท ลดตั้ง 20 % เลยใช่มั้ย แต่ต้องซื้อ 200 ตัวก็คือ 160,000 บาท

คำถามก็คือว่าอีก 6 หมื่นที่เพิ่มขึ้นคุณจะใช้เมื่อไหร่ อีก 100 ตัวที่เพิ่มขึ้นคุณจะใช้เมื่อไหร่ คือตัวเลขทางการเงินมันจะมีตัวเลขพวกนี้มาโชว์ทำให้ผู้ประกอบรู้ว่าต้นทุนมันคุ้มหรือไม่ การจ่ายไปอีก 6 หมื่นบอกว่าเซฟไป 4 หมื่นดูว่าเยอะจริงแต่โหกว่าจะใช้หนี้หมด สมมติอีกปีหนึ่งมันคือต้นทุนจมแล้วก็มาดูกระแสเงินสดแล้ว กระแสเงินสดเป็นอย่างไรจ่ายไป 6 หมื่นหมุนกลับมาทันมั้ย ทีนี้แบบง่าย ๆเลยปัญหาของผู้ประกอบการ บางทีรู้สึกว่าเอ้ยเดี๋ยวธุรกิจมันดี ลงทุนไว้ก่อน ซื้อตุนไว้ก่อน อันนี้ก็จะเป็นปัญหาใหญ่เหมือนเขาเรียกว่าค่าเสียโอกาสมั้ยครับ

ซึ่งค่าเสียโอกาสมันมีหลายมิติครับ สมมติเรามีเงินอยู่ก้อนหนึ่งเราเอาเงินก้อนนั้นไปฝากแบงค์ สมมติถ้าเราฝากแบงค์ตอนนี้ได้ประมาณ 1 % แต่ถ้าเราเอาเงินก้อนเดียวกันไปลงทุนทำอะไรก็แล้วแต่ที่ไม่มีความเสี่ยง สมมติไม่มีความเสี่ยงเลยนะได้ 2 % นะครับแปลว่าค่าเสียโอกาสคือ 1 % ใช่มั้ย

สิ่งที่เป็นปัญหาของผู้ประกอบการคือมักจะไม่ค่อยดูต้นทุนค่าเสียโอกาสที่มันเกิดขึ้น เอาง่าย ๆผมยกตัวอย่างมีเพื่อนคนหนึ่งทำธุรกิจแบบง่าย ๆเลยนะลงทุนกับเพื่อนทำธุรกิจมีรายได้เดือนหนึ่งรวมค่าคอมมิสชั่นอะไรต่าง ๆ ด้วยในฐานะเป็นผู้บริหารประมาณสัก 2 หมื่นกว่า ๆแต่เพื่อนคนนี้ถ้าไปทำงานอื่นจะได้มากกว่านั้น คำถามง่าย ๆก็คือว่าค่าเสียโอกาสคืออะไร ค่าเสียโอกาสคือการไปหารายได้เพิ่มได้มากกว่านั้นถูกมั้ย

มีคำถามก็คือว่าแล้วทำงานธุรกิจของตัวเองจะมีเงินปันผลเท่าไหร่ ถ้าเงินปันผลมันมากพอมันก็คุ้มถูกเปล่า ถ้าเงินปันผลไม่มากพอแปลว่ามันไม่คุ้มแล้ว แปลว่าธุรกิจนี้ไม่น่าทำแล้วทำไปเรื่อย ๆสูญเสียโอกาสที่จะได้รายได้จากแบบอื่นเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆนะครับ

อันนี้คิดแบบง่าย ๆครับคิดแบบไม่ต้องเอาตัวเลขมาคูณเลย การเสียโอกาสในชีวิตของคนเรานี่เยอะนะ จริง ๆแล้วผู้ประกอบการที่ดีเขาถึงซีเรียสกับเรื่องเวลาไงเพราะว่าเวลานี่ดอกเบี้ยมันเดิน ค่าใช้จ่ายเดิน วันหยุดนี่คือวันที่ไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้นี่คือเสียโอกาสในการหารายได้ เสียโอกาสในการหารายได้เท่ากับรายจ่ายที่ต้องจ่ายไป ถูกมั้ย

สมมติคุณกู้เงินมา 1 ล้านดอกเบี้ย 6 % เท่ากับ 6 หมื่น เดือนละ 5 พันหารด้วย 30 วันก็คือวันนึงประมาณ 170 บาทตีคร่าว ๆนะ แต่ว่าเดือนหนึ่งคุณหยุดไป 8 วันอ่ะ 170 คูณ 8 อ่ะ แปลว่าเป็นวันที่คุณเสียดอกเบี้ยไปฟรี ๆแล้วนะ 8 วัน เอา 170 คูณ 8 เนี่ยก็เท่ากับ 1,360 บาทอ่ะ แปลว่าทุกเดือนคุณเสีย 1,360 บาทเป็นค่าดอกเบี้ยโดยคุณไม่ได้ทำงาน

เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่ต้องคิด แค่เทียบตัวอย่างในแง่ของดอกเบี้ย 6  % จาก 1 ล้านนะ สมมติว่าคนที่เขากู้ 10 ล้านเนี่ยมันก็จะเพิ่มมากขึ้นถูกเปล่า ดอกเบี้ยแพงกว่านี้มันก็เพิ่มมากขึ้น เอาง่าย ๆสมมติว่าเรากู้ซื้อรถยนต์โดยที่ไม่ได้ทำอะไรแค่ขับจากที่บ้านมาที่ทำงาน สมมติว่ารถยนต์คันละ 1 ล้านคุณเสียดอกเบี้ยจริง ๆแล้วมันจะตกประมาณ 6 % อันนี้ไม่นับเงินต้นนะ 6 % นี่คือเดือนหนึ่งประมาณ 5-6 พันดอกเบี้ยที่ต้องเสียไป คุณผ่อน 5 ปี 5 ปีคุณเสียไป 3 แสนเงินต้นอีก 1 ล้าน แปลว่าคุณเสียเงินไป 1.3 ล้าน

สมมติค่าแท็กซี่ไปกลับวันละ 500 เดือนหนึ่งเท่ากับ 1.5 หมื่น ปีหนึ่งเท่ากับ 1.8 แสน 5 ปีเพิ่งเท่ากับ 9 แสน ถ้าคุณขึ้นแท็กซี่คุณประหยัดไป 4 แสน อันนี้คิดแบบง่าย ๆเพราะฉะนั้นคุณต้องถามก่อนว่าถ้าคุณซื้อรถหนึ่งคันแล้วคุณใช้มันแค่ขับจากบ้านไปที่ทำงาน หรือจอดรถไว้เฉย ๆเนี่ยคุณรู้เลยว่าคุณสูญเสียเงินเท่าไหร่ต่อวัน