ติดดาบ “สรรพากร” รีดภาษีธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (มีคลิป)

โดย ดร.โดม อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด

ทักทายสวัสดีครับแฟน ๆรายการ SME CHAMPION ทางคลื่น FM. 89.5 สถานีวิทยุราชมงคล ธัญบุรี วันนี้ (6 มี.ค.) ยังคงมีประเด็นที่น่าสนใจมาพูดคุยกันเหมือนเช่นทุกวัน ซึ่งวันนี้ทางผู้ดำเนินรายการได้หยิบประเด็นเรื่องของกรณีภาครัฐเตรียมเก็บภาษีธุรกิจอีคอมเมิร์ตมาพูดคุยกัน โดยระบุว่าทางกรมสรรพากรเตรียมที่จะชงให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาช่วงเดือนมีนาคมนี้

เรื่องในความเห็นส่วนตัวผมขอแยกเป็น 2 เรื่องครับ เรื่องแรกในแง่กระบวนการพิจารณากฏหมาย เหตุผลที่ต้องเสนอเข้าครม.เพราะว่ากฏหมายฉบับนี้มันต้องออกเป็นร่างพระราชบัญญัติ เพราะมันไปแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ฉะนั้นจึงต้องเสนอให้ครม.เสร็จแล้วก็จะส่งเข้าสนช. เรียกว่า Process ไม่ง่าย

เพราะฉะนั้นที่ระบุว่าจะเข้าครม.เดือนมีนาคมนี้ยังไม่มีผลบังคับใช้นะครับ เนื่องจากพอเข้าครม.ก็ต้องมี Process ต่อไปอีกเพียงแต่ว่าตามรัฐธรรมนูญตอนนี้ออกกฏหมายอะไร ต้องรับฟังความคิดเห็นนะครับซึ่ง Process การรับฟังความคิดเห็นมันเยอะมาก ตั้งแต่ที่เราคุยกันเมื่อปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ก็ 5-6 เดือนแล้ว

ทีนี้การแก้ไขกฏหมายครั้งนี้มันไม่ได้แค่เก็บภาษีเท่านั้น จริง ๆแล้วสาระสำคัญมันอยู่ที่การให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากรในการกำหนดหลักเกณฑ์ ในแง่ของการเก็บภาษีพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้เขาเรียกว่าการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แล้วก็เรียกว่าเป็น E- Business ครับ ไม่ได้ใช้คำว่า E- Commerce

แล้วก็สาระสำคัญอย่างที่บอกคือการให้อำนาจอธิบดีกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ในการเก็บได้ ซึ่งการเก็บจะเป็นเท่าไหร่กี่เปอร์เซ็นต์ตอนนี้มีการกำหนดร่างเอาไว้แล้ว อย่างที่ท่านอธิบดีพูดนะครับว่าเดิมทีไม่ถึง 1,500 บาทไม่ต้องแต่ตอนนี้เก็บทุกบาท โดยจะเน้นผู้ประกอบการจากต่างประเทศเป็นหลัก

ซึ่งในประเทศมันมีข้อยกเว้นอยู่แล้วสมมติว่าผมขายของผ่าน E- Commerce ผมมีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านก็ไม่ต้องอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้วเพราะฉะนั้นอันนี้ก็ได้รับการยกเว้น คนที่ขายไม่ได้มากก็ไม่ต้องไปซีเรียสอะไร แต่คนที่เริ่มขายของได้เยอะอาจต้องซีเรียส อันนี้คือเรื่องแรก

อย่างไรก็ตามจากข่าวนี้ผมคิดว่ายังมีเรื่องที่น่าสนใจอีกประเด็นนั่นคือ การที่ทางกรมสรรพากรรู้ว่าวันนี้ผู้ประกอบการที่ค้าขายอยู่ในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีจำนวน 3 แสนกว่าราย ทีนี้ 3 แสนกว่ารายนี้เป็นรายย่อยใช่มั้ยแล้วบอกว่ากำลังจะเพิ่มขึ้นอีก 17 % ก็อีกประมาณเกือบ ๆ 5 หมื่นราย ถ้าอัตราการเพิ่มแบบนี้ถือว่าเพิ่มเยอะแต่ตัวเลขนี้ผมเข้าใจว่าเป็นตัวเลขเฉพาะนิติบุคคลนะครับ

แต่ว่าถ้าเป็นแบบไม่ใช่นิติบุคคลน่าจะมากกว่านี้ เพราะว่าเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีบุคคลธรรมดาตรวจจับไม่ได้ ซึ่งตรวจจับไม่ได้ ณ วันนี้แต่ว่าต่อไปทางสรรพากรอย่างที่เราเคยคุยกันในรายการว่าสามารถเข้าไปเช็คบัญชี มีอำนาจในการขอตรวจสอบบัญชีบุคคลธรรมดาที่ธนาคารได้เลยโดยที่ไม่ต้องขอหมายจากศาล

ทีนี้นโยบายเรื่องนี้ถามว่าจะกระทบต่อการทำธุรกิจ E- Commerce หรือไม่ ผมว่าไม่ครับเพียงแต่ว่าต้องให้รัฐชี้แจงให้ชัดเจน คือยังไงแล้วเรื่อง E-Commerce มันโตแน่นอนอยู่แล้ว จะบอกว่าถ้ามีเรื่องนี้แล้วจะทำให้ E- Commerce ลดหดตัวมั้ยในมุมมองของผมไม่นะ แล้วมันจะทำให้คนที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ E- Commerce ชะลอการเข้ามั้ยมันก็ไม่ เพราะว่าวันนี้โดยสภาพแวดล้อมมันบังคับไปแล้วว่าคุณต้องเข้าสู่ระบบการค้าขายผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่เกิดไม่ได้ คุณจะขายออฟไลน์หรือออนไลน์ก็แล้วแต่ แต่การชำระเงินมันจะผ่านระบบออนไลน์แล้วใช่มั้ยครับ

ก็เป็นเรื่องที่ต้องรอดูนะครับเพราะว่าพอ Process ผ่านมันเห็นแล้วทีนี้แปลว่าตัวอธิบดีกรมสรรพากรจะมีดาบในมือแล้ว ดาบในการทำให้สามารถออกกฎหมาย เงื่อนไขต่าง ๆที่จะมาบังคับใช้ได้ ซึ่งมันจะทำให้เกิดความคล่องตัวเพราะที่ผ่านมาไม่คล่องตัวเพราะมันเป็นเรื่องใหม่