โดย ดร.โดม อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด
สวัสดีครับวันนี้ (12มี.ค) ยังคงมีประเด็นที่น่าสนใจเหมือนเช่นเคย สำหรับรายการ SME CHAMPION ทางคลื่น 89.5 วิทยุราชมงคล ธัญบุรี เรื่องที่นำมาพูดคุยในวันนี้ทางผู้ดำเนินรายการได้หยิบประเด็นกรณีกลุ่มบริษัทอนุภาษวิวิธการหรือกลุ่มของหงษ์หยก “คุณมนต์ทวี หงส์หยก” ผู้บริหารของบริษัทที่ออกมาประกาศบอกว่าจะยุติการเป็นตัวแทนของดีลเลอร์หรือผู้จำหน่ายรถยนต์ฮอนด้าในศูนย์บริการจังหวัดภูเก็ตและพังงา 4 สาขาด้วยกัน เริ่มจะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ขอเรียนอย่างนี้ครับว่าผมไม่รู้จักบริษัทดังกล่าวนี้แล้วก็เพิ่งมีโอกาสได้อ่านข่าวเกี่ยวกับบริษัทหงษ์หยกที่ยกเลิกการเป็นตัวแทนบริษัทรถก็บอกได้ครับว่าฮอนด้า เพราะว่าในช่วงเดียวกันก็มีการพูดถึงกรณีของ “กลุ่มพรประภา” ยกเลิกการเป็นตัวแทนรถยนต์ยี่ห้อนิสสันในเขตกรุงเทพฯด้วย
ต้องเรียนอย่างนี้ว่าธุรกิจขายรถยนต์ในส่วนที่เป็นโชว์รูมเราพูดถึงแค่นี้นะโมเดลนี้ โดยตัวธุรกิจนี้ต้นทุนที่แบกรับของผู้ประกอบการคือเรื่องของพื้นที่โชว์รูม ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจเก่าแก่ก็อาจจะซื้อตั้งแต่ยุคก่อนแล้วก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องของค่าเช่า นี่คือต้นทุนค่าเช่าถ้าสมมติไม่มีที่ดินก็ต้องไปเช่า แต่ถ้ามีที่ตัวเองสร้างเสร็จก็ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว
แต่ทีนี้ในเรื่องของตัวรายได้จากโชว์รูม หลัก ๆมาจากการขายรถยนต์กับการซ่อม การให้บริการหลังการขาย ซึ่งการให้บริการหลังการขายผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นรายได้หลักของตัวธุรกิจโชว์รูมรถยนต์ เพราะว่ารถคันหนึ่งส่วนใหญ่ก็ 3 ปี 5 ปีที่ซื้อใหม่จะต้องเข้าไปใช้บริการในศูนย์นะครับ
ปกติก็ 5,000 หรือ10,000 บาทใช่มั้ยครับเมื่อไปเข้าศูนย์หนึ่งครั้ง รถคันหนึ่งวิ่งธรรมดาก็ประมาณสัก 3 หมื่นกิโลเมตรต่อปีก็แปลว่าเข้าประมาณ 3 ครั้ง 5 ปีก็ 15 ครั้ง ครั้งหนึ่งก็ตกประมาณสัก 3,000-5,000 บาทโดยเฉลี่ยนะครับ ถ้าเอามากที่สุดก็ 5,000 คูณเข้าไป 15 ครั้งก็ประมาณ 75,000 บาท
หรือมากกว่านั้นเพราะว่าบางครั้งก็จะมีค่าใช้จ่ายจิปาถะมากกว่านี้ แต่ลองคิดดูรถยนต์เขาขายมาหลายปี ปี ๆ หนึ่งอาจจะเป็นร้อยเป็นพันคันต่อโชว์รูมเพราะฉะนั้นจำนวนจะค่อนข้างมากเช่น 75,000 คูณ 1,000 สมมติปีละ1,000 คันปีหนึ่งทบไป ๆเรื่อยก็หลายสิบล้านนะครับ อันนี้เป็นรายได้ก้อนหนึ่งที่นอกเหนือจากการขายรถยนต์
ทีนี้ค่าใช้จ่ายเมื่อสักครู่เราพูดถึงเรื่องของต้นทุนที่เป็นค่าเช่าที่ ถ้าไม่มีค่าเช่าที่ก็เป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าเครื่องไม้เครื่องมือของช่างกับค่าพนักงาน ต้องเรียนว่าปัจจุบันนี้ช่างก็หายากขึ้นเรื่อย ๆช่างตามโชว์รูมนะเพราะว่าเก่ง ๆก็มักจะออกไปทำเอง
ในขณะเดียวกันตัวโชว์รูมเองก็ถูกกดดันให้ต้องปรับปรุงให้ทันสมัย เดี๋ยวนี้เราไปโชว์รูมเหมือนไปคลับ ไปเลาจน์ มีบริการระหว่างนั่งรอค่อนข้างเยอะทั้งอาหารการกิน ขนมมีให้หมด อินเตอร์เน็ต ไวไฟมีให้หมดทุกอย่าง เพราะตรงนี้เขาถือว่าเป็นเซอร์วิสที่ให้ลูกค้าติดใจในเรื่องของการให้บริการนะครับ
ทีนี้หลาย ๆที่ที่เขายกเลิกส่วนใหญ่คือเรื่องของที่ดิน สมมติเคยซื้อเมื่อ 20 ปีที่แล้วมูลค่าที่ดินวันนี้ก็ต้องเพิ่มขึ้นมหาศาลถูกหรือไม่ เพราะฉะนั้นพอเพิ่มขึ้นมหาศาลมันก็มีคำถามว่ามันคุ้มหรือไม่กับการทำโชว์รูมรถยนต์ต่อไปอันนี้เป็นโจทย์ที่สำคัญเลยนะหรือถ้ากรณีที่เราเช่าเจ้าของที่ดินกำลังคิดคอร์สนะว่าจะให้เช่าต่อหรือไม่ เพราะว่าจะเอาที่ดินปล่อยเช่าให้คนอื่นหรือเอาไปทำธุรกิจอื่นมันได้ประโยชน์กว่า
ฉะนั้นพอถึงจุดหนึ่งธุรกิจที่มีลักษณะที่ต้องอาศัยพื้นที่จำนวนมากในการตั้งเป็นร้านค้า หรือศูนย์บริการแบบรถยนต์ก็จะมีปัญหา ก็คือต้องเริ่มคิดในขณะที่ต้นทุนมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การขายรถยนต์ปัจจุบันก็แข่งขันค่อนข้างสูงมาร์จิ้นต่ำลงเรื่อยๆนะครับ ในแง่ของพนักงานที่เป็นช่างก็หายากขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการรถยนต์ก็ต้องคิดว่าตัวเองจะทำต่อหรือไม่ทำต่อ???
ถ้าจะทำต่ออย่างกรณีนี้จากข่าวกลุ่มหงส์หยกก็อาจจะไปทำเป็นศูนย์บริการรถยนต์ถูกมั้ย ในแง่ของรับซ่อมทุกค่าย เพราะเข้าใจว่าตัวเขาเองก็ขายรถยนต์ให้หลายเจ้าด้วย แล้วปกติถ้าเราซ่อมเป็นศูนย์โชว์รูมมันก็ซ่อมได้ยี่ห้อเดียวถูกมั้ย เพราะหลัง5 ปีรถส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เข้าศูนย์แล้วต้องไปซ่อมข้างนอก
ถ้าสมมติว่าอาศัยความชำนาญของช่างอาจจะซ่อมได้หลาย ๆยี่ห้อมากขึ้น อันนี้ก็จะกลายเป็นข้อได้เปรียบใช่มั้ยครับ ยุบรวมช่างไม่ต้องใช้เท่าจำนวนยี่ห้อรถ หรือเท่าจำนวนโชว์รูมแต่ซ่อมได้หลายเจ้าเพราะฉะนั้นโมเดลรายได้ก็เปลี่ยนมีมากขึ้น
หรืออย่างในข่าวที่พูดถึงว่าตัวเขาเองก็เอาศูนย์บริการเดิมนี่ไปให้เช่ารถ แสดงว่าในอดีตเขาอาจจะมีการซื้อรถมือสองถูกมั้ยครับก็คือว่ารับเทิร์นรถด้วย คนที่ขายรถใหม่นี่ก็จะมีเต๊นท์รถมืองสองอยู่ข้าง ๆด้วยเพราะว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้คนออกรถใหม่ก็เอารถเก่ามาเทิร์น ก็เอารถเก่ามาบริการให้เช่าอันนี้ผมประเมินจากข่าวนะครับ
อันนี้คือโมเดลที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับข่าวที่เราได้ยินบ่อยนะว่าอีก 5 ปีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาแทนรถใช้น้ำมันก็อาจจะมีการประเมินแล้วว่ามันก็จะเหนื่อยนะเพราะฉะนั้นอาจจะหาธุรกิจใหม่ที่มันสามารถที่จะกินรายได้ในระยะยาวแทน ทีนี้เนื่องจากว่าเราก็ไม่รู้นโยบายของทางฮอนด้ากับนิสสันด้วยว่ามีนโยบายในการที่จะให้ตัวแทนที่เป็นโชว์รูมมีการต้องปรับปรุงหรือมีแรงกดดันในแง่ของเป้าหรืออะไรบ้าง
ทีนี้จากสิ่งที่เกิดขึ้นเราลองมาดูว่า ถ้าเราเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องพึ่งพาการทำธุรกิจที่มีโลเคชั่นแล้วมีการลงทุนเรื่องของที่ดิน ถ้าเจ้าของเราไม่ได้เป็นเจ้าอสังหาริมทรัพย์เองในระยะยาวจะเหนื่อย เพราะต้นทุนการเช่าก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ส่วนหนึ่งพวกที่ทำร้านอาหารหรือว่าเปิดร้านยา พวกเปิดร้านทำฟันจะมีปัญหาพวกนี้เยอะ หรือว่าร้านขายของที่ขายของริมถนนแล้วพวกที่เป็นโชว์ห่วย หรือขายของอะไหล่ขายอะไรอย่างนี้สังเกตหรือไม่ว่าพอถึงจุดหนึ่งแล้วเขาทำไม่คุ้มเขาก็เลิกทำขายตึกได้ขายตึกทิ้ง
เพราะว่าบางครั้งสภาพแวดล้อมในการแข่งขันมันเปลี่ยนไง ในอดีตคุณเปิดธุรกิจมาคุณไม่ต้องมีที่จอดรถปัจจุบันต้องมีที่จอดรถ พอไม่มีที่จอดรถปรากฏว่าลูกค้าไม่มาแล้ว ธุรกิจหลายธุรกิจบอกว่าเอ้ยถ้ารถไฟฟ้าผ่านดีปรากฏว่าพอรถไฟฟ้าผ่านจริงตาย เพราะว่าคนไม่เดินทางผ่านหน้าร้านเขาผ่านข้างบนร้านไปเลย
เพราะฉะนั้นเอสเอ็มอีที่ยึดเรื่องโลเคชั่นถ้ามีทำเลของตัวเองก็ต้องคิดแล้ว สภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนไปธุรกิจของตัวเองในการทำธุรกิจเดิมมันคุ้มมั้ยหรือว่าต้องเปลี่ยนธุรกิจไปเป็นอย่างอื่นเลย ภาษานักเศรษฐศาสตร์เราเรียกว่า Opportunity cost คือค่าต้นทุนค่าเสียโอกาส ต้องดูว่าทรัพย์สินที่เรามีอยู่นี่เอาไปทำอย่างอื่นคุ้มหรือไม่คุ้ม
แล้วเวลาจะออกจากตลาดมันควรจะออกจากตลาดตอนช่วงที่มันกำลังดีไงไม่ใช่ออกจากตลาดช่วงที่มันแย่ พอออกจากตลาดช่วงที่มันแย่นี่ตายเลยบางทีขายไม่ได้ราคา อย่างทุกวันนี้ตึกแถวที่ริมรถไฟฟ้าหลายแห่งขายไม่ออกเพราะไม่มีคนซื้อ เพราะคนซื้อนี่วันนี้ซื้อห้องเดียวไปทำอะไรไม่ได้นะ สังเกตหลาย ๆที่ที่มีการขายกันสังเกตมั้ยว่าเป็นการซื้อที่แปลงใหญ่เสร็จแล้วทำเป็นพวกคอนโด ทำเป็นเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นช้อปปิ้งมอลล์เล็ก ๆ คอมมูนิตี้มอลล์เล็ก ๆนะครับ อันนี้มันถึงจะทำได้
ทีนี้ธุรกิจรถยนต์โชว์รูมรถยนต์นี่ถ้าต้องมาลงทุนสร้างโชว์รูมใหม่มันลำบากไง มันต้องลงเงินอีกมหาศาล ขณะเดียวกันอุปกรณ์ในการบำรุงรักษารถยนต์ส่วนที่เป็นรายได้เสริมก็ต้องมีการลงทุนเพิ่ม เพราะรถยนต์รุ่นใหม่ ๆมันใช้เทคโนโลยีที่มันสูงขึ้นเรื่อย ๆในขณะที่ช่างเองก็หาไม่ได้แบบเดิม
จากปัญหาเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นเอสเอ็มอีต้องดูเลยในแง่ของการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจว่า Business Model มันจะเปลี่ยนมั้ย ทรัพย์สินเรา ที่ดินมันเปลี่ยนมั้ย มันจะสร้างมูลค่าเพิ่มแบบอื่นได้หรือเปล่า ตัว Key resources อย่างในกรณีนี้ถ้าเป็นรถยนต์ก็คือช่าง เรื่องอุปกรณ์ทางช่าง อุปกรณ์ทางช่างใช้เงินซื้อไม่มีปัญหาแต่ช่างนี่บางทีใช้เงินซื้อก็ไม่ไหวนะ เพราะว่ามันเป็นค่าใช้จ่ายประจำมันไม่เหมือนการลงทุนเครื่องมือแล้วมันตัดค่าเสื่อมได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจประเภทนี้ต้องคิด
มีธุรกิจหนึ่งที่มันใกล้เคียงกับเรื่องนี้มากเลย ปั๊มน้ำมันเคยสังเกตมั้ยแต่ก่อนอยู่ในเมือง ตอนนี้ในเมืองก็ไม่ค่อยเห็นเพราะที่ดินมันแพง มันก็จะขยายออกไปนอกเมืองมากขึ้นแล้วปั๊มที่ขยายออกนอกเมืองก็จะมีสเกลที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆเพราะรายได้จากการขายน้ำมันไม่พอไงเลยต้องเอารายได้จากส่วนอื่นด้วย ทำเหมือนเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ไปเลย
ทีนี้คนทำธุรกิจที่มีลักษณะที่เป็นแลนด์ลอร์ด ก็จะสังเกตว่าเขาส่วนใหญ่นี่ซื้อที่ดินในอดีต 20 -30 ปีตอนนั้นที่ดินมันยังถูกกว่าปัจจุบันไง ทีนี้เวลาสร้างโชว์รูมนี่มันก็ต้องสร้างหรูหรามากเลยไม่งั้นคนไม่เชื่อถือ แต่ถ้าเป็นปั๊มน้ำมันไม่เหมือนกันนะ ปั๊มน้ำมันนี่มันไม่ต้องลงทุนโครงสร้างเยอะไงไม่เหมือนตัวโชว์รูมถูกมั้ยครับเพราะฉะนั้นนี่แลนด์ลอร์ดส่วนใหญ่ช่วงหลังก็ออกมาเปิดเป็นปั๊มน้ำมันง่ายกว่า ทำคอมมูนิตี้มอลล์ทำอะไรได้ ในขณะที่โชว์รูมรถยนต์นี่มันมีรายได้แค่ตัวขายรถยนต์กับเรื่องของบริการหลังการขายพวกซ่อมเท่านั้นเอง
กรณีของหงส์หยกในแง่ของที่ดินเขาไปทำอย่างอื่นได้ถูกมั้ยครับ อย่างที่บอกว่าที่ดินถ้ามันอยู่ในไทน์แอเรียเขาก็ไปทำเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ ทำเป็นเรื่องต่าง ๆได้หมด ในแง่ของศูนย์ซ่อมไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ช่างยังมีอยู่ถูกมั้ยครับ ก็คือรถยนต์เขาขายมาหลายสิบปีเพราะฉะนั้นลูกค้าเก่าแทนที่ให้บริการกับรายเดียวก็บริการให้กับหลายรายได้ พอครบ 5 ปีส่วนใหญ่คนก็ยังต้องการให้บริการผ่านศูนย์อยู่ดี ก็ให้บริการไปแทนที่มีโชว์รูมเดียวบริหารให้กับรถยี่ห้อเดียวก็เป็นศูนย์ซ่อมให้กับรถได้ทุกยี่ห้อ เพราะฉะนั้นอันนี้เขายังอาศัยลูกค้าเก่าที่มีอยู่ให้บริการต่อไป ที่ดินก็ไปใช้ประโยชน์ในแง่ของอสังหาริมทรัพย์ทำอย่างอื่นต่อไป ซึ่งโมเดลแบบนี้จะมีอีกเยอะ
ถามว่าถ้าเขามีธุรกิจเดียวจะน่ากลัวมั้ย อยากเรียนว่าคนที่ทำธุรกิจโชว์รูมไม่ได้มีธุรกิจเดียว ไม่เหมือนเอสเอ็มอีที่ปากกัดตีนถีบแล้วมีธุรกิจเดียวอันนี้เหนื่อยครับ โอกาสที่จะมองไปทำธุรกิจอื่นต้องมองล่วงหน้านานพอสมควร ประเภทแบบว่าเอ้ยตัดสินใจเลิกปุ๊บปั๊บไม่ได้หรอกต้องคิดพอสมควรครับ อย่างถ้ารถไฟฟ้าบอกว่าเริ่มสร้างตอกเสาเข็มในถนนหน้าบ้านตัวเองต้องคิดล่วงหน้าแล้วครับว่า กว่ารถไฟฟ้าเสร็จ 5 ปีคุณจะทำยังไงเพราะว่ามันเปลี่ยนไปหมดเลย 5 ปี พอเริ่มสร้างปุ๊บรถติดแถวรามคำแหง รามอินทราตอนนี้รถเริ่มติดมากกว่าเดิม มันติดอยู่แล้วแต่ตอนนี้มันติดมากกว่าเดิม พอติดมากกว่าเดิมคุณจะจัดการปัญหาพวกนี้ยังไง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคิดตั้งแต่ต้น ไปดูโมเดลของรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ตอนช่วงที่มันสร้าง มันดูง่าย ๆ เส้นพหลโยธินที่ตอนนี้สร้างมาปีกว่าแล้วนี่เริ่มเห็นแล้วว่าร้านค้าร้านรวงมันก็เปลี่ยนไปเยอะนะ