[DBC] Direct to Consumer เทรนด์ค้าปลีกสำคัญ กับเหตุผลว่าทำไมแบรนด์ถึงควรทำ 01

Direct to Consumer เทรนด์ค้าปลีกสำคัญ กับเหตุผลว่าทำไมแบรนด์ถึงควรทำ

Direct to Consumer หรือเรียกโดยย่อว่า D2C คือการขายสินค้าแบบปลีกผ่านช่องทางการขายเฉพาะที่เป็นของแบรนด์เอง กำลังกลายเป็นเทรนด์ e-Commerce ทั่วโลก โดยแบรนด์ต่าง ๆ ที่ใหญ่พอหรือมีกำลังทรัพย์ต่างเริ่มหันมาทำแพลตฟอร์มการขายเป็นของตนเอง

Direct to Consumer หรือเรียกโดยย่อว่า D2C คือการขายสินค้าแบบปลีกผ่านช่องทางการขายเฉพาะที่เป็นของแบรนด์เอง โดยมีระบบรวบรวมสินค้า บริการจัดส่ง และชำระเงินอย่างสมบูรณ์ไว้ในช่องทางเดียว ไม่ได้ขายผ่านแพลตฟอร์ม e-Marketplace ตัวกลาง ซึ่งผู้บริโภคจะได้มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับแบรนด์มากขึ้น การทำ D2C กำลังกลายเป็นเทรนด์ e-Commerce ทั่วโลก โดยแบรนด์ต่าง ๆ ที่ใหญ่พอหรือมีกำลังทรัพย์ต่างเริ่มหันมาทำแพลตฟอร์มการขายเป็นของตนเอง

ตัวอย่างหนึ่งของการทำ D2C ที่โดดเด่นและน่าสนใจ คือ Nike หนึ่งในแบรนด์ชุดกีฬารายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ประกาศยุติการขายบน Amazon และหันมามุ่งเน้นการขายสินค้าบนหน้าเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของตนเอง ซึ่งคาดการณ์การเติบโตของยอดขายผ่านช่องทางดังกล่าว สูงถึง 250% ภายในระยะเวลา 5 ปี หรือยอดขายจะสูงถึง 16 พันล้านดอลลาห์สหรัฐในปี 2020 จากเพียง 6.6 พันล้านดอลลาห์สหรัฐในปี 2015

แบรนด์ขนาดใหญ่ที่ทำ D2C: Nike, Under Armour, Disney, Apple, Tesla Motors, Timberland และอื่น ๆ อีกมาก

เอกสาร White Paper พาณิชย์อิเล็กรอนิกส์ไทย ซึ่งจัดทำขึ้นโดยความร่วมมือจาก สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี และสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ระบุว่าหนึ่งในเทรนด์ e-Commerce ที่สำคัญในปี 2020 นี้ ผู้ประกอบการเจ้าใหญ่ ๆ ในไทยจะหันมาให้ความสำคัญกับการทำ Direct to Consumer กันมากขึ้น และในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพา e-Marketplace ต่าง ๆ เพื่อเป็นข่องทางการขายอีกต่อไป

สำหรับในประเทศไทย e-Marketplace (เช่น Lazada, Shopee, JD Central) ยังคงเป็นช่องทาง e-Commerce ที่ได้รับความนิยมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ต่างไปรวมตัวกันอยู่บนช่องทางดังกล่าว แล้วเพราะอะไร Direct to Consumer จึงกลายมาเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ธุรกิจต้องหันมาประยุกต์ใช้ สาเหตุอะไรที่ธุรกิจควรนำกลยุทธ์นี้เข้ามาเป็นหนึ่งในส่วนประสมการตลาด?

ออกแบบประสบการณ์การซื้อที่มีคุณภาพได้เอง

การเติบโตของเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย และคลาวด์ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความคาดหวังต่อสินค้าและบริการในระดับที่สูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังต้องการประสบการณ์ที่มีความลื่นไหลไม่สะดุดให้รำคาญใจ ดังนั้น การสร้างประสบการณ์ผู้บริโภคจึงกลายเป็นสนามแข่งขันทางการตลาดของธุรกิจหลายองค์กร ที่จะสร้างความได้เปรียบทางการค้าด้วยการพยายามดึงดูดและรักษาลูกค้าเอาไว้กับแบรนด์ของตนเอง

ธุรกิจควรทำให้แน่ใจว่าลูกค้าจะออกจากร้านค้าของคุณอย่างมีความสุขและพึงพอใจ การขายโดยตรงไปยังผู้บริโภค คุณจะจินตนาการถึงการเดินทางของลูกค้าตั้งแต่ต้นจนจบ และมีความสามารถในการนำสิ่งที่วางแผนเอาไว้เหล่านั้นมาสรรค์สร้างให้เกิดขึ้นเป็นความจริงได้ ผิดกับการขายผ่านแพลตฟอร์มฝากขายอื่น ๆ ที่คุณจะต้องทำตามแบบแผนที่ถูกบังคับไว้ของแต่ละแพลตฟอร์ม อย่างไรก็ตาม การขายโดยตรงไปยังผู้บริโภคไม่ได้หมายถึงประสบการณ์การซื้อที่ดีกว่าเสมอไป

สร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์อย่างแนบแน่น

การทำการตลาดแบบ D2C ผ่านการทำเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน e-Commerce เป็นของตนเอง เปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถสร้างสรรค์เรื่องราวและสื่อสารโดยตรงไปยังลูกค้าได้อย่างยืดหยุ่น และควบคุมให้ไปในทิศทางเดียวกันได้ ผ่านทางตัวอักษร รูปภาพ โทนสี ระบบรับบริจาค ระบบ Reward หรือฟังก์ชันอื่น ๆ ของแพลตฟอร์ม โดยสตอรี่ที่แตกต่าง น่าหลงใหล และแสดงออกเพื่อสาธารณะ มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งการทำการตลาดผ่านช่องทาง e-Marketplace แบบรวมหลาย ๆ ผู้ค้าไม่อาจใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราวไปยังลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่า

หากลูกค้าเลือกซื้อสินค้าของคุณผ่านเว็บไซต์ขายของออนไลน์ e-Marketplace เหนือสินค้าจากคู่แข่ง คุณอาจจะชนะให้แง่ของยอดการขาย แต่คุณจะสูญเสียโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าไป

สามารถเก็บข้อมูลและค้นหา Customer Insight ได้

สำหรับหลายธุรกิจ เหตุผลที่น่าดึงดูดที่สุดในการหันมากทำการตลาดโดยตรงไปยังผู้บริโภคแบบนี้ ก็คือคุณจะสามารถเก็บข้อมูลของผู้บริโภคที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาลได้

ช่องทาง D2C เพิ่มโอกาสในการหล่อหลอมให้ผู้บริโภคธรรมดา ๆ ที่เข้ามาซื้อสินค้าของคุณให้กลายเป็นลูกค้าระยะยาวที่ผูกพันตลอดชีพได้ เพราะแบรนด์มีความสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า (ผ่านช่องทางของตนเอง) เพื่อนำมาปรับและส่งมอบประสบการณ์ชอปปิ้งที่ตรงตามความต้องการส่วนตัวของลูกค้าแต่ละคนได้ ซึ่งเทคนิคการตอบสนองลูกค้าดังกล่าวไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มยอดขาย แต่ 75% ของลูกค้าของคุณก็ต้องการการเอาใจใส่แบบนี้ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ข้อมูลของลูกค้ามาแล้ว ทางบริษัทจะต้องนำข้อมูลมาประมวลผลอย่างบูรณาการกับข้อมูลของลูกค้าบนช่องทางการขายอื่น ๆ เพื่อให้เกิดเป็นชุดข้อมูลที่มีประโยชน์ โดยแปลงเป็น Customer Insight ที่ช่วยให้เข้าใจลูกค้าในทุกขั้นตอนของ Customer Journey

Direct to Consumer 2

จากการที่ธุรกิจค้าปลีกหลายแห่งต่างประสบความสำเร็จจากการจัดทำช่องทาง Direct to Consumer เพิ่มเติมจากช่องทางการขายเดิมที่มีอยู่แล้ว แบรนด์ต่าง ๆ คงกำลังวางแผนเปิดร้านค้าออนไลน์ผ่านทางแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ e-Commerce เป็นของตนเองในอนาคตอันใกล้อย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อมีร้านค้าลงทุนทำ D2C เป็นจำนวนมาก คงขึ้นอยู่กับว่าแบรนด์ใดจะสามารถหยิบยื่นประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า พันธมิตร และหุ้นส่วนทางธุรกิจได้ จึงจะเป็นผู้ชนะในเกมธุรกิจนี้