การแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่านับว่าเป็นโศกนาฎกรรมที่คร่าชีวิตของผู้คนนับพัน นอกจากจะทำร้ายประชากรโลกแล้วยังเริ่มส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในวงกว้างอีกด้วย Digital Business Consult จึงอัปเดตสถานการณ์ของ COVID-19 (หรือโควิด-19) ผลกระทบในภาพรวม พร้อมแนวทางการรับมือต่อโรคติดต่อดังกล่าว เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้รู้เท่าทันและปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่กำลังตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงได้ครับ
![[DBC] สถานการณ์ COVID-19 ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการรับมือ 01](https://digitalbusinessconsult.asia/wp-content/uploads/2020/03/DBC-COVID-19-01.png)
สถานการณ์ COVID-19: ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและการรับมือ
การแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่านับว่าเป็นโศกนาฎกรรมที่คร่าชีวิตของผู้คนนับพัน นอกจากจะทำร้ายประชากรโลกแล้วยังเริ่มส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจในวงกว้างอีกด้วย Digital Business Consult จึงอัปเดตสถานการณ์ของ COVID-19 (หรือโควิด-19) ผลกระทบในภาพรวม พร้อมแนวทางการรับมือต่อโรคติดต่อดังกล่าว เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้รู้เท่าทันและปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจที่กำลังตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงได้ครับ
เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการแพร่กระจายของ COVID-19 ?
ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ภายนอกประเทศจีน มีจำนวนมากกว่าเคสติดเชื้อภายในประเทศ การแพร่ของเชื้อโรคชนิดนี้อยู่ในอาณาบริเวณ 4 จุดใหญ่คือ ประเทศจีน (ศูนย์กลางที่มณฑลหูเป่ย) เอเชียตะวันออก (ศูนย์กลางที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่น) ตะวันออกกลาง (ศุนย์กลางที่อิหร่าน) และยุโรปตะวันตก (ศูนย์กลางที่อิตาลี) เมื่อคิดคำนวณในภาพรวมแล้ว ประเทศต่าง ๆ ถูกผลกระทบอย่างรุนแรงจากไวรัสชนิดนี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันเกือบ 40% ของเศรษฐกิจโลก การเคลื่อนย้ายเดินทางรายวันและการติดต่อสื่อสารกันอย่างพลุกพล่านเขตเหล่านี้ส่งผลให้การควบคุมการติดเชื้อโรคเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และในขณะที่สถานการณ์ในประเทศจีนเริ่มอยู่ตัวเนื่องมากจากมาตรการทางสาธารณะสุขที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ เคสใหม่ในประเทศอื่น ๆ ก็กำลังเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ด รวมถึงในประเทศแถบละตินอเมริกา (บราซิล) อเมริกาเหนือ (รัฐแคลิฟอร์เนีย ออริกอน และวอชิงตัน) และแอฟริกา (อัลจีเรียและไนจีเรีย) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (The US Centers for Disease Control and Prevention) คาดการณ์ว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะเผชิญกับการติดต่อของโรคภายในชุมชน และจากหลักฐานข้อมูลล่าสุดยังเป็นนัยว่าการคาดการณ์นี้อาจกำลังเป็นความจริง
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ในอนาคตดูเหมือนจะไม่แน่นอน สื่อต่าง ๆ เริ่มนำเสนอออกมาในเชิงว่าโรคติดต่อนี้อาจไม่สามารถควบคุมได้ ความมั่นใจของผู้บริโภคโดยเฉพาะในเขตแพร่กระจายของเชื้อยังคงลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องมาจากการรับข่าวสาร ตลอดจนการถูกกักกัน การห้ามเดินทางท่องเที่ยว และการงดการชุมนุม ประเทศจีนมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าภูมิภาคอื่น ๆ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกจะยังคงอยู่อีกอย่างยาวนาน คาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในปี 2020 จะชะลอตัวลง ผู้ประกอบการธุรกิจควรศึกษาสถานการณ์เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับความไม่มั่นคงและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ (ฉบับคาดการณ์)
จากการวิเคราะห์ของ McKinsey ภายใต้ความร่วมมือจาก Oxford Economics พบว่าสามารถทำนายสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกออกมาได้ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว (A Quick Recovery) ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว (A Global Slowdown) และภาวะเศรษฐกิจถดถอยเนื่องจากโรคระบาด (Pandemic-Driven Recession)
- ภาวะคาดการณ์ที่ 1 เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นหลังจากการอัตราการติดเชื้อเริ่มรุนแรงมากขึ้น จนนานาประเทศต่างหันมามีมาตรการขั้นเด็ดขาดและควบคุมอุปสงค์อย่างจริงจัง อย่างเช่นที่เมืองจีนเคยดำเนินการจนควบคุมอัตราการแพร่กระจายของโรคได้อย่างรวดเร็วมาแล้ว ลองจินตนาการดูว่าผู้คนต่างติดเชื้อโควิด-19 จนเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานจากที่บ้าน และการให้ลูกอยู่ที่บ้านแทนที่จะไปโรงเรียนตามปกติ เป็นต้น คาดการณ์ว่า GDP โลกจะเติบโตลดลงจากร้อยละ 2.5 เหลือร้อยละ 2.0 ปัจจัยหลัก ๆ เกิดมากจากการหยุดชะงักและลดน้อยลงของ GDP ในประเทศจีน รองลงมาในแถบประเทศเอเชียตะวันออก และเขตพื้นที่เศรษฐกิจอื่น ๆ ตามลำดับ เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาอาจฟื้นตัวได้ในช่วงปลายของไตรมาสที่ 1 ซึ่งโรงงานในประเทศจีนส่วนใหญ่น่าจะเริ่มกลับมาผลิตสินค้าผลิตออกสู่ตลาดแล้ว แต่ความมั่นใจของผู้บริโภคอาจไม่กลับมาแข็งแรงดังเดิมจนกระทั่งในช่วงปลายไตรมาสที่ 2
- ภาวะคาดการณ์ที่ 2 เศรษฐกิจชะลอตัว
สมมติว่าประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่อาจไม่สามารถจัดการควบคุมการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วเช่นในประเทศจีน การติดต่อของโรคยังมีอัตราสูงในแถบยุโรปและอเมริกาแต่ไม่กระจายสู่ภูมิภาคอื่น ส่วนหนึ่งเนื่องจากบุคคล องค์กร และรัฐบาลให้ความสำคัญกับมาตรการรับมือกับการติดต่อของโรค ส่วนในแอฟริกา อินเดีย และพื้นที่ประชากรแออัดอื่น ๆ อาจพบการกระจายของเชื้อไวรัสอยู่บ้าง แต่ก็จะค่อย ๆ แพร่กระจายลดลงตามฤดูธรรมชาติในช่วงระหว่างไตรมาสที่ 2
ภาวะดังกล่าวจะพบเห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคที่รุนแรงมากกว่าในภาวะแรกข้างต้น จนส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของ GDP โลกลดลงถึงครึ่งหนึ่ง หรือเหลือร้อยละ 1.0-1.5 ซึ่งดึงให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แต่ยังไม่ถึงขั้นของการถดถอย การชะลอตัวของเศรษฐกิจจะกระทบ SMEs ค่อนข้างรุนแรง และเขตเศรษฐกิจที่ยังไม่พัฒนาจะเจ็บหนักกว่าเขตเศรษฐกิจที่พัฒนาในระดับที่สูงกว่า นอกจากนั้นภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ยังได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน อุตสาหกรรมการบิน การคมนาคม และการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ธุรกิจที่ไม่แข็งแรงอาจเผชิญกับภาวะย่ำแย่หรือล้มละลาย โดยที่มีโควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา
ด้านสินค้าอุปโภคบริโภค อุปสงค์ของผู้บริโภคที่ตกต่ำส่งผลต่อการพยายามปรับลดแรงงานและการดำเนินธุรกิจให้อยู่ในระดับ “ปริ่มน้ำ” ซึ่งเพียงพอเฉพาะต่อการดำรงอยู่ของบริษัท เกิดอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น แต่อุปสงค์สินค้าจะเพิ่มกลับขึ้นมาอีกครั้งเมื่อวิกฤตจากไวรัสเริ่มจางหายไปในช่วงพฤษภาคม – มิถุนายน
- ภาวะคาดการณ์ที่ 3 เศรษฐกิจถดถอยเนื่องจากโรคระบาด
ภาวะนี้คล้ายคลึงกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เว้นเพียงแต่การระบาดของไวรัสไม่ได้ลดลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของฤดูตามธรรมชาติ เป็นไปได้ว่าโควิด-19 อาจเกินกำลังของระบบสาธารณสุขทั่วโลก และยังคงระบาดอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาไตรมาสที่ 2 และ 3 ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภคที่จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงปลายและหลังไตรมาสที่ 3 ไปแล้ว ภาวะดังกล่าวนี้คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการถดถอยของเศรษฐกิจโลก GDP โดยรวมในปี 2020 อาจมีอัตราการเติบโตอย่างติดลบอยู่ที่ร้อยละ -1.5 ไปจนถึงร้อยละ 0.5 ก็เป็นได้
ธุรกิจควรโฟกัสและรับมืออย่างไร?
ภาวะคาดการณ์การแพร่กระจายของ COVID-19 และผลกระทบต่อเศรษฐกิจข้างต้น ในระดับที่รุนแรงน้อยกว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นจริงมากกว่าภาวะที่รุนแรง เนื่องจากเราจะเห็นได้ว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างออกมามีมาตรการรับมือที่เข้มแข็ง ซึ่งน่าจะมีผลต่อการควบคุมโรคในเชิงบวก แต่ไม่ว่าเหตุการณ์จะออกมาเช่นไร ธุรกิจน้อยใหญ่ย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ผู้ประกอบการหรือผู้บริหารธุรกิจจึงควรวางแผนและดำเนินการเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์นี้ หรืออาจพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเลยก็ย่อมได้
- ปกป้องพนักงานของคุณ
โควิด-19 ส่งผลกระทบกับสภาพจิตใจของใครหลาย ๆ คน เนื่องจากทำให้วิถีชีวิตประจำวันมีความไม่แน่นอน บริษัทควรดำเนินการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย จัดทำ Guideline หรือมาตรการเพื่อสนับสนุนการทำงานและความปลอดภัยของพนักงาน ซึ่งสัมพันธ์ถึงความมั่นใจในการทำงาน แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ไม่ควรจัดการอย่างเข้มงวดเกินความจำเป็นจนกระทบกับกระบวนการทำงาน
- ตั้งคณะทำงานเฉพาะ
บริษัทควรแต่งตั้งผู้แทนที่รายงานขึ้นตรงต่อ CEO เพื่อนำทีม และคัดสรรผู้ร่วมทีมจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความถนัดเฉพาะด้านมาเป็นผู้ช่วย สมาชิกของทีมที่รวบรวมขึ้นใหม่นี้อาจจะต้องสละหน้าที่ประจำวันส่วนหนึ่งมาเพื่อดำเนินการรับมือกับโรคติดต่อนี้อย่างจริงจัง โดยควรมีการประชุมร่วมเพื่อวางเป้าหมาย วางแผนรับมือเหตุการณ์ เป็นราย 2-3 วัน หรือรายสัปดาห์ และต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์อย่างทันท่วงทีเมื่อมีความเปลี่ยนแปลง
- บริหารการเงินให้รอด
ธุรกิจจำเป็นต้องวิเคราะห์ปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อรายได้และค่าใช้จ่าย ด้วยการจัดทำโมเดลต่าง ๆ เพื่อแสดงการเงิน (แคชโฟลว์ งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน) เพื่อหาว่าในสถานการณ์ไหนและในจุดไหนที่ยังเป็นจุดอ่อนที่ทำให้การเงินของคุณอาจหยุดชะงักได้หากโดนผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง หลังจากนั้นจึงหาทางดำเนินการเพื่ออุดจุดอ่อนนั้นและทำให้สภาพทางการเงินของบริษัทมั่นคงที่สุด เช่น การลดต้นทุนด้วยการขายกิจการหรือควบรวมกิจการบางส่วน เป็นต้น หากมีความจำเป็น
- รักษาห่วงโซ่อุปทาน
การรักษาห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เป็นเรื่องที่ทุกบริษัทควรให้ความสำคัญ เพราะอาจมีซัพพลายเออร์บางเจ้าที่มีที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดของโควิด-19 จนทำให้กระบวนการผลิตเป็นอัมพาตไป ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจของคุณขาดสินค้าหรือสิ่งจำเป็นอื่น ๆ ในการดำเนินงานประจำวันได้ อาจต้องดำเนินการหาซัพพลายเออร์อื่นทดแทนหรือจัดการสต๊อกสินค้าอย่างเข้มงวด และในทางกลับกันนั้น ธุรกิจก็ควรมีการวางแผนล่วงหน้าในการจัดหาสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ (อุปสงค์) ของผู้บริโภคที่อาจพุ่งทะยานสูงขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน เมื่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้ผ่านพ้นไป หลีกเลี่ยงภาวะสินค้าขาดตลาด
- ตามติดพฤติกรรมผู้บริโภค
บริษัทที่ลงทุนเกี่ยวกับการสำรวจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายและพฤติกรรมของพวกเขา มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในแวดวงธุรกิจมากกว่าบริษัทอื่น ๆ อย่างเช่นในประเทศจีนที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความต้องการสินค้าแม้จะลดลงแต่ก็ไม่ได้หมดไป โดยผู้คนต่างทยอยเปลี่ยนมาซื้อของแทบทุกประเภทผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงสินค้าอาหารและผักผลไม้แบบจัดส่งถึงบ้านด้วย ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงควรหันมาลงทุนในด้านออนไลน์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของช่องทางการขายแบบองค์รวม (Omni-channel) เพราะถึงแม้วิกฤติจะผ่านพ้นไปแล้ว พฤติกรรมและความชอบของผู้บริโภคส่วนหนึ่งอาจจะไม่ได้เปลี่ยนกลับไปเป็นอย่างในช่วงก่อนหน้าการมาของไวรัสตัวนี้
- แสดงออกถึงความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ธุรกิจจะแข็งแกร่งเติบโตได้ก็เพราะสังคมมีความแข็งแรง บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ที่มีกำลังจึงควรมีลู่ทางในการช่วยเหลือชุมชนโดยรอบ โดยอาจสนับสนุนเป็นเงินทุน อุปกรณ์จำเป็น หรือใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของบริษัทเอง เช่น การเปลี่ยนสายการผลิตสินค้าเสื้อผาตามปกติมาเป็นการผลิตหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงเสี่ยงจากเชื้อไวรัสโคโรน่าและควรมีเช็คลิสต์ว่าบริษัทของเราจะสามารถช่วยชุมชนได้ในทางใดบ้าง การช่วยเหลือสังคมเมื่ออยู่ในภาวะขับขันเป็นการประชาสัมพันธ์บริษัทที่ดี และแสดงออกถึงวิสัยทัศน์ที่ “แคร์” หรือห่วงใยลูกค้าและผู้บริโภคอย่างแท้จริง
วิกฤตการณ์ COVID-19 ยังคงไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนแน่นอน แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือมนุษยชาติได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง และธุรกิจต่าง ๆ ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อปกป้องพนักงานทุกคน สำรวจความท้าทายและความเสี่ยงต่อธุรกิจที่กำลังคืบคลานเข้ามา และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าเท่าที่จะสามารถทำได้
เรียบเรียงข้อมูลจาก McKinsey. (2020). COVID-19: Implications for business. Retrieved 2020, 10 Mar, from https://www.mckinsey.com/business-functions/risk/our-insights/covid-19-implications-for-business?fbclid=IwAR0krfWI2Mh0XuNe4_ZJkgJM0neE3ljkDjC7GtJG3SzI-3gab-8voNvj5tA
