Consumer to Consumer (C2C) ก็คือโมเดลธุรกิจ e-Commerce ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถทำการซื้อขายสินค้ากันเองได้โดยตรง (แบบผู้บริโภคไปยังผู้บริโภค) จุดเด่นคือผู้ที่เป็นเจ้าของสินค้าหรือมีสินค้าไว้ในครอบครองทำการเปิดร้านขายของออนไลน์เล็ก ๆ เป็นของตนเองบนแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อกลาง

C2C โมเดลธุรกิจ e-Commerce เพื่อผู้บริโภคที่แท้
หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า B2B และ B2C กันมาบ้าง เพราะหากคุณเป็นธุรกิจประเภทร้านค้า ก็ต้องเลือกว่ากลุ่มลูกค้าจะเป็นธุรกิจด้วยกันที่นำเอาสินค้าของคุณไปจัดการผ่านกระบวนการต่อ (B2B) หรือเป็นลูกค้ารายย่อยที่ซื้อหาไปเพื่อใช้อุปโภคบริโภคเอง (B2C) แล้ว C2C ล่ะ มันคืออะไรกัน
Consumer to Consumer (C2C) เป็นโมเดลธุรกิจ e-Commerce ที่เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคสามารถทำการซื้อขายสินค้ากันเองได้โดยตรง (แบบผู้บริโภคไปยังผู้บริโภค) จุดเด่นคือผู้ที่เป็นเจ้าของสินค้าหรือมีสินค้าไว้ในครอบครองทำการเปิดร้านขายของออนไลน์เล็ก ๆ เป็นของตนเองบนแพลตฟอร์มที่เป็นสื่อกลาง เนื่องจากปริมาณหรือมูลค่าของสินค้ายังมีอยู่ในจำนวนไม่มาก จึงไม่พร้อมที่จะลงทุนทำ e-Commerce แพลตฟอร์มเพื่อขายสินค้าเอง สามารถอธิบายให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านแผนภาพโมเดลต่อไปนี้
โมเดลธุรกิจแบบ Consumer to Consumer
ที่มา: Cudjoe Dan. (2014). Consumer-To-Consumer (C2C) Electronic Commerce: The Recent Picture. International Journal of Networks and Communications 4(2), 29-32.
จากโมเดลข้างต้นที่แสดงถึงธุรกิจแบบ Consumer to Consumer จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภคคนที่ 1 ต้องการขายสินค้าที่มีอยู่จึงโพสต์ผ่านร้านค้าบนเว็บไซต์ ผู้บริโภคคนที่ 2 ที่มีความต้องการสินค้านั้นก็จะมีพฤติกรรมค้นหาสินค้าบนเว็บไซต์ดังกล่าว เมื่อเลือกของที่ถูกใจแล้วจึงเกิดการแลกเปลี่ยนขึ้น ผู้บริโภคคนที่ 1 ได้รับเงินจากผู้บริโภคคนที่ 2 และผู้บริโภคคนที่ 2 ได้รับสินค้าจากผู้บริโภคคนที่ 1 โดยมีเว็บไซต์เป็นแพลตฟอร์มสื่อกลางในการดำเนินการแลกเปลี่ยน เพื่อให้เกิดความพึงพอใจขึ้นแก่ผู้บริโภคทั้ง 2 ฝ่าย
e-Marketplace หรือตลาดอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างผู้บริโภคที่ต้องการขายสินค้าและผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้า และยังมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนสินค้าอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการชำระเงิน การพูดคุยสอบถามรายละเอียดสินค้า หรือการขนส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค ส่วนรายได้ของแพลตฟอร์มเหล่านี้มาจากหลายโมเดล Revenue Stream โดยบางเจ้าอาจเก็บส่วนแบ่งเปอร์เซ็นจากการซื้อขายที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม หรือบางเจ้าอาจใช้ระบบการคิดเงินค่าโฆษณา เป็นต้น
ปัจจุบันแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เป็นสื่อกลางให้กับผู้บริโภคตามโมเดล Consumer to Consumer หรือ e-Marketplace กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ (บางท่านอาจใช้งานโดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจัดเป็นแพลตฟอร์มประเภทนี้) ไม่ว่าจะเป็น Lazada, Alibaba.com, Shopee, WELOVESHOPPING.COM, JD.com, ebay, amazon.com ฯลฯ ตลอดจนแพลตฟอร์มที่จัดประเภทให้ลงซื้อขายเฉพาะกลุ่มสินค้าหรือบริการ เช่น Kaidee.com, Thaisecondhand.com, TaladRod.com, airbnb เป็นต้น เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านต้องเคยใช้บริการซื้อขายสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มเหล่านี้อย่างแน่นอน
ข้อดีของโมเดลธุรกิจแบบ C2C
สาเหตุที่แพลตฟอร์ม e-Commerce แบบ C2C ได้รับความนิยมสูงก็เป็นเพราะประโยชน์ที่ทั้งผู้บริโภคฝ่ายซื้อและผู้บริโภคฝ่ายขายต่างก็ได้รับ มีหลายประการตามนี้เลยครับ
- สินค้าราคาถูก เนื่องจากไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหลายทอด ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน (Physical Store) และค่าบริหารจัดการอื่น ๆ ยิบย่อย ทำให้ผู้บริโภคแฮปปี้ ซื้อสินค้าได้ในราคาน่ารัก
- ค้นหาสินค้าได้ง่าย แค่พิมพ์คำที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ต้องการลงไปบนแพลตฟอร์ม
- เปรียบเทียบสินค้าสะดวก ผู้บริโภคสามารถส่องดูสินค้าจากหลาย ๆ ผู้ค้าได้ แถมยังเปรียบเทียบราคา คุณภาพ และตัวเลือกของสินค้าได้ในคราวเดียวกัน จึงสามารถเลือกสินค้าที่ดีที่สุด ที่แมทช์กับความต้องการของตนเองได้อย่างสะดวกสบาย
- ขายคล่องกำไรมาก ขณะที่ผู้ซื้อได้สินค้าราคาถูก ผู้ขายก็ได้กำไรมาขึ้นจากต้นทุนที่ลดลงเช่นกัน
- ขยายตลาดกว้างไกล แพลตฟอร์มการขายแบบ e-Marketplace ครอบคลุมตลาดทั่วโลก ไม่เพียงแต่ในประเทศเท่านั้น เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคที่ต้องการขายและต้องการซื้อจากทั่วทุกมุมโลกมีโอกาสทำธุรกิจกันได้
อย่างไรก็ตาม การซื้อขายของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม จากผู้บริโภคไปยังผู้บริโภค แบบนี้อาจมีอุปสรรคทางด้านความน่าเชื่อถือของผู้ขายและสินค้า เนื่องจากอาจเกิดการหลอกลวงขึ้น เช่น สินค้าไม่ตรงปกตามที่ลงขายไว้ ข้อความจงใจให้เกิดความเข้าใจผิด คุณภาพสินค้าไม่ได้มาตรฐานตามที่ระบุไว้ เป็นต้น ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม e-Marketplace จึงต้องดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายและปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานแพลตฟอร์มด้วย อย่างเช่น Shopee (จากประสบการณ์ส่วนตัว) มีระบบยืนยันตัวตนร้านค้าเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ขายมีตัวตนจริง สามารถติดตามตัวได้เมื่อเกิดปัญหา และมีระบบร้านค้าแนะนำ ซึ่งเป็นร้านค้าที่ได้รับการรีวิวจากลูกค้าแล้วว่าสินค้าดีมีคุณภาพ ส่งของให้อย่างรวดเร็วไม่เกินเวลาที่กำหนด ผู้บริโภคที่เข้ามาซื้อสินค้าก็จะมั่นใจได้ว่าเป็นร้านค้าที่โอเคหายห่วง เป็นต้น
*ฝากไว้ให้คิด การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ธุรกิจโมเดล Consumer to Consumer ควรให้ความสำคัญ เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องมีการสมัคร (เก็บข้อมูลของผู้บริโภคทั้งผั่งผู้ขายและผู้ซื้อ) และมีการใช้ประโยชน์จากการกระทำของบุคคลบนหน้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ธุรกิจมีมาตรการต่อการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเป็นอย่างไร สอดคล้องกับที่ พรพ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA) ได้กำหนดไว้หรือไม่ ส่วนด้านผู้บริโภคเองก็ต้องรับรู้ในสิทธิของตนเองและมีความระแวดระวังในการเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเมื่อใช้งานดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน
สรุป
โมเดลธุรกิจ e-Commerce แบบ Consumer to Consumer คือธุรกิจที่ช่วยให้ผู้บริโภคซื้อขายสินค้ากันเองได้โดยตรงผ่านระบบดิจิทัล กำลังเป็นที่นิยมและมีโอกาสเติบโตขึ้นอีกมาก สำหรับใครที่กำลังคิดอยากเริ่มธุรกิจเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง หรือฝึกการค้าขายเบื้องต้น ก็สามารถทดลองเปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์ม e-Marketplace ได้ ซึ่งไม่แน่ว่าอาจจะกลายเป็นช่องทางที่ทำรายได้และกำไรให้คุณได้อย่างไม่คาดคิด
หรือหากมีไอเดียอยากลองทำธุรกิจแพลตฟอร์ม C2C เป็นของตนเอง ทดลองเขียนโมเดลธุรกิจของคุณออกมาก่อนว่าหน้าตาเป็นอย่างไร โดยใช้ Business Model Canvas เป็นเครื่องมือช่วยให้เห็นภาพองค์รวมของธุรกิจ และมีส่วนช่วยให้ผู้สนใจร่วมทุนธุรกิจตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ มองเห็นธุรกิจของคุณได้อย่างชัดเจน สัมพันธ์กับโอกาสในการประสบความสำเร็จที่มากขึ้น สามารถปรึกษา Digital Business Consult ได้ครับ
แหล่งอ้างอิงจาก:
http://article.sapub.org/10.5923.j.ijnc.20140402.01.html
