โดย ดร.โดม อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด
สงสัยกันมานานพร้อม ๆ คำถามที่ตามมามากมายว่า ตกลงเรื่องของสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือที่เรียกกันตามประสาชาวบ้าน ๆ ว่า “ลอตเตอรี่”มันแก้ปัญหายากนักเหรอ ก็แค่เรื่องควบคุมราคาขายสลากฯแต่ทำไมทุกยุคทุกรัฐบาลไม่เห็นจะแก้ปัญหาได้สำเร็จสักที แม้แต่รัฐบาลปัจจุบันที่บอกว่าจะ“คืนความสุขให้กับคนไทยทั้งชาติ” ก็ยังคิดไม่ตกสะเก็ดซะที
เมื่อไปส่องดูงบการเงินของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตลอดทั้ง 20 ปีที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2539-2558) พบว่าคนไทยควักเงินซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากบำรุงการกุศลทั้งสิ้น 909,433 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีคนถูกรางวัลนำลอตเตอรี่มาขึ้นเงินกับสำนักงานสลากฯ 552,202 ล้านบาท มีคนถูกรางวัลที่ 1 มาแล้วประมาณ 11,500 คน หรือปีละประมาณ 575 คน ส่วนที่ไม่ถูกรางวัลหรือ “ถูกกิน” 357,229 ล้านบาท
วิธีการแก้ปัญหาง่าย ๆ ของรัฐบาลทุกชุดคือการสั่งพิมพ์จำนวนสลากฯเพิ่ม (จากเดิม 37 ล้านฉบับคู่ในปี 2558 เพิ่มเป็น 60 ล้านฉบับคู่ในปัจจุบัน) ด้วยแนวคิดที่ว่าถ้าปริมาณความต้องการเพียงพอจะทำให้ลอตเตอรี่ไม่ถูกขายโก่งราคา แต่สุดท้ายไม่ว่าจะพิมพ์เพิ่มสักเท่าไหร่ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้
ล่าสุดการเสนองัดมาตรการเด็ดขาดโดยเพิ่มโทษผู้จำหน่ายสลากเกินราคาจากเดิมปรับไม่เกิน 2,000 บาท เป็นโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมทั้งกำหนดเพิ่มเติมความผิดกรณีขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในสถานศึกษาและการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลแก่บุคคล ซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ โดยระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ไม่ว่าจะงัดเอามาตรการออกบังคับใช้อย่างไรมักจะมีคำถามที่ตามมาเสมอว่า ตกลงใช่ทางแก้ปัญหาหรือไม่

“ปัญหาลอตเตอรี่ขายเกินราคาหน้าสลากฯ หลายคนบอกว่าเพราะมีดีมานต์คือมีความต้องการมากกว่าสลากฯที่พิมพ์แต่ที่จริงแล้วมันไม่ได้เป็นเพราะปัญหานี้หรอกครับ เพราะพิมพ์เท่าไรก็ไม่พอ ในมุมมองของผมมองว่าปัญหาเป็นเรื่องของวิธีคิดและการจัดการเป็นปัญหา ซึ่งมันแก้ไขได้ไม่ใช่ว่าต้องพิมพ์สลากเพิ่มอย่างเดียว จะบอกว่าเป็นสินค้าควบคุมคนที่ไม่ซื้อก็มีสิทธิ์ไม่ซื้อเพราะมันไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับกับชีวิตถูกมั้ยครับ”
ผมว่าให้รัฐบาลไปควบคุมเรื่องข้าวสาร น้ำปลา น้ำตาลจะดีกว่า หรือไปคุมอะไรที่มันจำเป็นกับชีวิตดีกว่า เรื่องแบบนี้มันไม่จำเป็นต้องคุมแต่เพราะคนที่รับผิดชอบเขาจัดการกับปัญหาไม่เป็น
วิธีจัดการปัญหาต้องดูก่อนว่าสำนักงานสลากินแบ่งรัฐบาลเขาทำงานอย่างไร สำนักงานสลากฯอยากจะมีเงินก้อนเป็นรายได้ประจำ ซึ่งเขาก็รู้ว่าปี ๆ หนึ่งมันจะได้กำไรเท่าไหร่ โดยวิธีการหากำไรเขาก็คือจากการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล สมมติตัวเลขง่าย ๆ ว่ามีการพิมพ์สลากฯประมาณ 50 ล้านคู่คิดเป็น 100 ล้านฉบับ สมมติว่าราคาขายหน้าสลากฯ 80 บาทขายส่งในราคา 70 บาทแปลว่ากองสลากฯก็จะรู้เลยว่าตัวเองจะมีรายได้เท่าไหร่ ปีหนึ่งออกจำนวน 24 งวดก็คูณไปได้เงินจำนวนกี่ล้าน เมื่อหักค่าใช้จ่ายตั้งแต่เงินที่ถูกรางวัลสมมติว่ามีคนขึ้นรางวัลทุกงวดทั้งหมดก็รู้แล้วว่าเป็นตัวเลขจำนวนเท่าไหร่ก็เอาไปหักแล้วก็มีการหักค่าบริหารจัดการ ค่าน้ำค่าไฟค่าเงินเดือน ค่าสวัสดิการที่เหลือก็ได้เป็นกำไร พอได้กำไรก็เอากำไรส่วนหนึ่งซึ่งในกฎหมายกำหนดว่าต้องส่งจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์เข้าคลังเพื่อให้เป็นรายได้ของรัฐบาล
ทีนี้ในอดีตก่อนที่เทคโนโลยีมันจะทำได้เช่นในปัจจุบัน ทางกองสลากฯไม่อยากดีลกับผู้ค้ารายย่อยเยอะและไม่อยากเสี่ยงจึงได้กำหนดเรื่องของโควตาเพื่อให้คนมาเหมา เพราะฉะนั้นจะขายหมดหรือไม่หมดคนที่รับเหมาโควตาไปต้องรับผิดชอบมันถึงต้องมีการดิสเคาน์เยอะหน่อย แล้วคนที่เหมาโควตาก็ไปบวกส่งต่อจากรายใหญ่ก็ไปสู่รายกลาง รายย่อยจนถึงคนขายปลายทางเพราะฉะนั้นมันต้องผ่าน 4-5 ทอด ต้นทุนกว่าจะไปถึงคนขายคนสุดท้ายบางทีมันบวกเกินราคา 80 บาทไปแล้วคนสุดท้ายที่รับเอาไปขายก็ฉันรับมาแพงแล้วนี่ฉันไม่สามารถที่จะขายได้
แล้วบางทีหวยชุดต้องมารวมเพราะว่าเวลากองสลากฯกระจายก็กระจายแบบกระจายไปเลย ฉะนั้นจึงมีคนไปรับซื้อกับคนที่ได้โควตาเพื่อจะมารวมลอตเตอรี่ซึ่งเขาถือว่าเป็นต้นทุนในการรวม ฉะนั้นมันก็มีคนที่เป็นตัวกลาง 4-5 รายเป็นตัวกลางทำหน้าที่ในการกระจายสินค้าแล้วทำหน้าที่รวมให้ไปถึงรายย่อยคนขายคนสุดท้าย ซึ่งการรวมชุดทีพิมพ์สลากเท่าไหร่ก็ไม่พอ

ขณะที่รัฐบาลก็บอกว่าต้องจัดสรรให้กับองค์กรนั้นองค์กรนี้เอาไปขายต่อเพื่อเป็นรายได้ขององค์กรเช่นองค์กรทหารผ่านศึก สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยและกลุ่มอื่น ๆฯลฯ เพราะฉะนั้นพวกองค์กรสาธารณประโยชน์ก็จะได้โควตาไปแล้วยังได้เปอร์เซ็นต์จากโควตาอีก เสร็จแล้วก็เอาไปให้รายย่อยกินหัวคิวตรงกลางก็มีการเอารายย่อยมาขึ้นทะเบียน เช่นคนตาบอดก็ไปขึ้นกับสมาคมคนตาบอดฯ คนตาบอดได้โควตามากี่ล้านใบก็แล้วแต่ก็หักหัวคิว สมมติว่าได้มางวดละ 2 แสนใบ ๆ ละบาทก็ได้สองแสนบาททุกเดือนสำหรับองค์กร
นั่นคือเรื่องเส้นทางของสลากฯที่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่ผมอยากนำเสนอก็คือผมมองว่าด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันเราไม่ต้องพิมพ์ลอตเตอรี่ที่เป็นกระดาษก็ได้ แต่เราสามารถขายลอตเตอรี่ได้แบบเดิมเพียงแค่เอาเทคโนโลยีมาช่วย ขณะที่วิธีการจับรางวัลก็ยังเหมือนเดิมทุกประการ “ผมไม่ได้พูดถึงประเด็นเรื่องของการจับรางวัลนะครับ แต่พูดถึงเรื่องของสลากกินแบ่งฯไม่ต้องเป็นสลากเหมือนเดิม นั่นคือการนำเอาระบบไอทีเข้ามาช่วยซึ่งวิธีการดังกล่าวจะตัดพวกยี่ปั๊วหรือคนที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปเลยจากระบบเหลือแต่องค์กรสาธารณประโยชน์กับผู้ค้ารายย่อย”
ขณะที่องค์กรสาธารณประโยชน์มีกี่องค์กรก็มาขึ้นทะเบียน จะจัดสรรให้จำนวนกี่ใบจัดสรรให้ไปเลย สมมติว่าใน 100 ล้านฉบับจัดสรรให้องค์กรละ 5 ล้านมี 10 องค์กรก็ 50 ล้านก็ตัดไปที่เหลืออีก 50 ล้านฉบับก็ให้กับผู้ค้ารายย่อย 50 ล้านฉบับที่ให้กับ 10 องค์กรไป องค์กรเหล่านี้ก็รู้อยู่แล้วว่าสมมติตัวเองได้ใบละบาทก็ได้ 50 ล้านถูกมั้ย10 องค์กรก็คือองค์กรละ 5 ล้าน
แต่ละองค์กรก็ไปหาสมาชิกมาขายและก็มาขึ้นทะเบียน แต่แทนที่จะขึ้นทะเบียนกับองค์กรก็มาขึ้นทะเบียนกับกองสลากฯเลยแต่มีโค้ดขององค์กรติดไปด้วย เพราะฉะนั้นสมมติว่าผมเป็นคนตาบอดผมก็จะได้โค้ดของสมาคมฯไปขึ้นทะเบียน เวลาขายสลากฯสมมติว่าได้หนึ่งบาทองค์กรนั้นก็ยังได้หนึ่งบาทเหมือนเดิม ราคาที่มาถึงผมสมมติผมเป็นคนสุดท้ายควรได้กำไร 10 บาทก็ยังได้ 10 บาทเท่าเดิม นั่นคือในส่วนของกลุ่มที่เป็นองค์กร
ส่วนกลุ่มที่สองก็คือผู้ค้ารายย่อย ผู้ค้ารายย่อย 50 ล้านใบ สมมติว่าเราให้ 5 หมื่นคนได้ไปคนละพันใบก็ขึ้นทะเบียน 5 หมื่นคนนี้ ทุกคนก็ไปขายผ่านเครื่องพิมพ์ใบเสร็จแบบพกพาที่มีซิมเชื่อมต่อออนไลน์ตลอดเวลา สลากฯมี 100 ล้านหมายเลขในเครื่องพิมพ์ดังกล่าวก็ออนไลน์ซิงค์กัน 100 ล้านหมายเลข คุณมาเจอผมซึ่งเป็นคนตาบอดขายคุณอยากซื้อทั้งชุดซื้อจากผมได้ เพราะทุกคนมีสิทธิ์ขายทุกเบอร์จะไม่เหมือนเดิมแล้ว
เพราะในอดีตมันใช้กระดาษแจกไปฉะนั้นคนที่ได้ชุดนี้ขายชุดอื่นไม่ได้ ถ้าอยากขายชุดอื่นต้องไปหาคนมารวม แต่พอทำระบบนี้ไม่ต้องมีคนรวมแล้ว สมมติว่า 10 องค์กรการกุศลนั้นมีสมาชิกอีกประมาณ 1 แสนคน รวมเป็น 150,000 คน ทุกคนมีเครื่องพิมพ์ใบเสร็จแบบพกพาขาย ๆได้ทุกเบอร์แต่จำกัดโควตา เพราะฉะนั้นอยากขายคุณมาซื้อจากผมก็เลือกเบอร์ ผมก็เอาเครื่องพิมพ์ใบเสร็จแบบพกพาให้กด
ถามว่าแล้วการใช้เครื่องขายสลากจะป้องกันเรื่องความไม่ชอบมาพากลได้หรือไม่ อยากเรียนว่านี่เป็นไอเดียในการนำเสนอซึ่งในทางปฏิบัติสามารถเขียนระบบป้องกันได้ ก็ในเมื่อทุกวันนี้เรายังโอนเงินผ่านธนาคารได้ เรายังกล้าโอนเงินผ่านมือถือ ทำไมเราจะซื้อสลากผ่านมือถือไม่ได้
อาจจะมีคำถามว่าโมเดลที่พูดถึงนี้ใช่โมเดลที่เคยพูดในยุคทักษิณหรือเปล่า อยากเรียนว่าไม่ใช่ครับอันนั้นมันคือล็อตโต้โมเดลของผมไม่ได้ไปขายที่เซเว่น โมเดลของผมคือหน่วยงานต้องเป็นสาธารณประโยชน์ ขณะเดียวกันคนขายก็ต้องขึ้นทะเบียนไม่ว่าขึ้นกับหน่วยงานหรือขึ้นกับกองสลากก็ได้ แล้วคนขายเป็นรายย่อย
นั่นหมายความว่าคนขายจะเป็นเหมือนคนปกติทั่วไป เพียงแต่จะเปลี่ยนจากเดิมที่คุณต้องถือลอตเตอรี่เป็นปึ๊ง ๆ หรือว่ามีไม้อัดแล้วก็มีลอตเตอรี่เรียงกันเป็นแผง แต่คุณแค่ถือเครื่องพิมพ์ใบเสร็จแบบพกพา “ลอตเตอรี่มั้ยคะ ๆ” ผมก็มาดูบอกว่าอยากได้เบอร์นี้ก็ซื้อเลยยังไม่มีคนซื้อ แต่ถ้าสมมติว่าคุณอยากซื้อ คนอื่นอยากซื้อแล้วอยู่กันคนละที่ คนขายก็คนละคน เกิดชอบเบอร์เดียวกันใครกดก่อนซื้อก่อนได้ก่อน ทีนี้เวลาจะจ่ายเงินจะเป็นพร้อมเพย์ จ่ายเป็นเงินสด จ่ายเป็นบัตรเครดิตก็ได้
ผมคิดว่าแนวคิดที่ผ่าน ๆ มาการแก้ปัญหามันเป็นปลายทาง ปัญหาของเราทุกวันนี้มันคือกระบวนการจัดการซึ่งแนวคิดของผมนั้นไม่ได้ไปเปลี่ยนต้นน้ำนะ จำนวนสลากยังคงเท่าเดิม ทุกอย่างยังเหมือนเดิมเพียงแต่เปลี่ยนวิธีการกระจายและวิธีการขาย
ทีนี้ทุกคนก็จะรู้ว่าฉันได้โควตามาพันใบเพราะฉะนั้นงวดหนึ่งฉันได้หนึ่งหมื่นไม่มีสิทธิมากกว่านี้ โอนโควตาไม่ได้ คุณขายได้น้อยคนอื่นขายได้มากก็ขายไป ประเด็นคือมันจะไม่มีสลากเหลือสมมติว่าสุดท้ายได้คนละพันพอถึงสุดท้ายผมขายได้ 950 บาทแล้วหวยจะออกวันนี้ก็มีสิทธิที่จะโอนได้ หรือสมมติว่าโควตาผมหมดแต่ของอีกคนยังไม่หมด คุณอยากซื้อคุณมาเจอผมโควตาผมหมดแล้วพี่แต่ถ้าพี่อยากได้ก็ Search เลยโควตาของคนนั้นมีพี่ก็จ่ายผ่านผม ๆไปหักเงินจากคนที่มีก็สามารถทำได้
มันก็มีคำถามว่าแล้วมันแก้ปัญหาเรื่องจำนวนสลากได้หรือไม่บอกเลยว่าได้ แต่ว่าโควตานี้คือใช้โควตาที่หมดแล้ว เราจะรู้เลยว่าโควตาพวกนี้บางคนได้โควตามาแล้วก็โอนสิทธิไปเลย แต่อันนี้ไม่โอนสิทธินะครับเพราะว่าการซื้อยังต้องซื้อผ่านผมอยู่เพราะฉะนั้นผมไม่สามารถโอนสิทธิ คนอื่นก็ไม่สามารถโอนสิทธิให้ผมเพราะว่าคนซื้อยังซื้อผ่านผม โดยที่ผมต้องไปขอโควตาจากคนอื่นเพราะฉะนั้นมันรู้เลยว่าโควตาไปจากใคร แล้วใครไม่ขายด้วยตัวเองหากเกิน 70-80% ตัดจากการเป็นตัวแทนขายทั้งหมด พวกนี้สามารถทำได้ง่าย ระบบมันถูกตรวจสอบ กระบวนการจัดการมันแก้ปัญหาเรื่องใครถูกหวย เวลาขึ้นเงินก็ง่ายอีกแค่โอนเงินโดยตรงจากสำนักงานสลากฯถึงคนถูกรางวัลได้เลย เพราะว่าคุณรู้เบอร์แล้วนี่เวลาซื้อว่าใครซื้อ คุณมาซื้อจากผม คุณเลือกเบอร์ กดเบอร์เสร็จปุ๊บคุณก็ใส่ชื่อสกุล เบอร์โทรหรือเลขที่บัตรประชาชน มันก็จบ
และที่สำคัญก็คือถ้าเป็นไอเดียนี้อยากจะแก้ปัญหาในเรื่องของหวยใต้ดินก็ทำได้ง่าย ก็ให้คนถือเครื่องพิมพ์ใบเสร็จแบบพกพาขายหวยใต้ดินต่อ มันก็จะเอาหวยใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดิน ทั้งหมดที่ได้กล่าวมาถือว่าง่ายแล้วกองสลากฯก็มีเงินที่จะลงทุนทำแล้วมันตัดคนที่ไม่จำเป็นออก พวกค้าส่งยี่ปั๊วซาปั๊วตัดออกหมดเพราะคุณไม่ต้องกระจายแล้วไง เครื่องพิมพ์ใบเสร็จแบบพกพาคุณก็ให้มาขึ้นทะเบียนก็จะได้เครื่องไป หรือใช้เครื่องพิมพ์ดังกล่าวของคุณลงโปรแกรมไป ใส่รหัสพาสเวิร์ดจบ
โดยเทคโนโลยีวันนี้มันทำแบบนี้ได้แล้วมันน่าเชื่อถือได้ คุณบอกไม่น่าเชื่อถือแล้วทำไมคุณถึงโอนเงินผ่านมือได้ล่ะหรือจะบอกว่าต้องลงทุนเยอะ ผมบอกเลยต่อให้ต้องลงทุนเป็นร้อยล้านหรือพันล้านยังไงก็คุ้มครับ แล้วถามว่าทุกวันนี้ค่าพิมพ์สลากแต่ละงวดเท่าไหร่ สมมติต้นทุนค่าพิมพ์ใบละ 5 บาท แปลว่างวดหนึ่งคุณต้องจ่าย 500 ล้านนะ ปีหนึ่งก็หมื่นกว่าล้าน สมมติว่าแผ่นละ 1 บาทก็ร้อยกว่าล้าน แล้วใครที่อยู่ในระบบตัวกลางที่ไม่มีประโยชน์ก็ทลายการผูกขาดออกไปเลย
ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดสำหรับเรื่อง “ลอตเตอรี่” ก็เพื่อเป็นแนวทางเล็ก ๆ ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคม ก็ในเมื่อประเทศของเรากำลังเดินเข้ายุค 4.0 แล้ว การนำเรื่องของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้เช่นกรณีการนำเครื่องพิมพ์ใบเสร็จแบบพกพามาใช้ในการขายสลากแทนระบบเดิม ๆ ที่ใช้การพิมพ์สลากด้วยกระดาษ และนำเรื่องบริหารจัดการเข้ามาช่วยตั้งแต่เรื่องของโควตา การขึ้นทะเบียนของผู้ค้ารายย่อย ผมว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันจะช่วยแก้ปัญหาที่คับอกคับใจให้กับผู้ที่มีส่วนในการรับผิดชอบ ตลอดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นได้ครับ