2 งานใหญ่ตอบโจทย์เอสเอ็มอี คุณไปมามั้ย?

สวัสดีครับพบกับรายการ SME CHAMPION ทางคลื่น 89.5 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี สำหรับวันนี้ (21 พ.ค.) ทางผู้ดำเนินรายการได้หยิบประเด็นกรณีการจัดงาน 2 งานใหญ่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อันได้แก่งานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ และ SME ทรานส์ฟอร์เมชั่น พร้อม ๆ กับตั้งคำถามว่าปีนี้งานน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน แล้วเอสเอ็มอีได้อะไรบ้างจากการจัดงานในครั้งนี้    

      โดย ดร.โดม อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด

                สวัสดีครับพบกับรายการ SME CHAMPION ทางคลื่น 89.5 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี สำหรับวันนี้ (21 พ.ค.) ทางผู้ดำเนินรายการได้หยิบประเด็นกรณีการจัดงาน 2 งานใหญ่เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อันได้แก่งานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ และ SME ทรานส์ฟอร์เมชั่น พร้อม ๆ กับตั้งคำถามว่าปีนี้งานน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน แล้วเอสเอ็มอีได้อะไรบ้างจากการจัดงานในครั้งนี้

                ผมอยากเรียนว่า จริง ๆ แล้วช่วงสัปดาห์ที่แล้วมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอี 2 กิจกรรมสำคัญ โดยกิจกรรมหนึ่งคือ SME ทรานส์ฟอร์เมชั่น กิจกรรมนี้จัดเมื่อวันที่ 18-20 พ.ค.ที่ผ่านมาที่เมืองทองธานี ซึ่งผมเข้าใจว่าทางราชมงคล ธัญบุรี น่าจะมีกิจกรรมในงานดังกล่าวด้วย

ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้มีเป้าหมายคือ ต้องการที่จะทำให้เอสเอ็มอีเห็นว่าเอสเอ็มอีสามารถจะเปลี่ยนแปลงตัวเองในยุคไทยแลนด์ 4.0 หรือยุคดิจิตอลได้อย่างไร การเปลี่ยนแปลงตัวเองในลักษณะทรานส์ฟอร์ม เขาก็มีบูธของหน่วยงานราชการที่อยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรมแล้วก็หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเอสเอ็มอีมา มีธนาคารแล้วก็มีหน่วยงานทางด้านเทคโนโลยีพวกดิจิตอลมาออกบูธด้วย  แต่ว่าไฮเลต์สำหรับผมนะมันกลายเป็นไฮไลต์ที่อยู่บนเวทีใหญ่ ซึ่งก็คือการที่มีการจัดเสวนา บรรยายเกี่ยวกับเรื่องอีคอมเมิร์ซหรือดิจิตอล มาร์เก็ตติ้งอย่างนี้ครับ เห็นคนฟังแทบจะเต็มทุกรอบ

ถามว่าแสดงคนเริ่มสนใจเรื่องการทำอีคอมเมิร์ซมากขึ้นเองหรือไม่ ก็อยากเรียนว่าจริง ๆ ตอนนี้ทุกคนรู้ว่ามันจำเป็นและสำคัญต่อการทำธุรกิจ ปัญหาคือทุกคนอยากได้เทคนิค อยากได้เคล็ดลับที่จะทำง่าย ทำให้สำเร็จเร็ว ไม่อยากลองผิดลองถูก ทีนี้ปัญหาคือมันแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีเคล็ดลับหรือเทคนิคที่มันจะทำให้ประสบความสำเร็จ เพราะว่าถ้ามันมีแปลว่าทุกคนสำเร็จหมดซึ่งเป็นไปไม่ได้ โดยหลักการในการทำธุรกิจแล้วถ้าทุกคนทำสำเร็จได้มันจะไม่เรียกว่าการทำธุรกิจแล้ว แปลว่ามันไม่ต้องมีการแข่งขันใช่มั้ยครับ

                พอมีการแข่งขันแปลว่าจะต้องมีคนชนะ มีคนแพ้ ถ้าทุกคนมัดใจลูกค้าได้หมดถามว่าจะไม่มีใครขายของได้เลยซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่คนสนใจแล้วก็ขวนขวาย แต่สิ่งที่สำคัญคือทุกคนต้องลงมือทำถ้าไม่ลงมือทำก็จะไม่รู้ว่ามันเหมาะกับธุรกิจตัวเองหรือไม่ อันนี้คืองานหนึ่งที่ผมไป

                อีกงานหนึ่งคือ งานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว ปีนี้ต้องบอกว่าในแง่ของพื้นที่มีการขยับขยายมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ นะครับ  มีคนมาออกบูธเพิ่มมากขึ้นหลากหลายกลุ่มขึ้น มีจากต่างประเทศค่อนข้างมากนะครับ หน่วยงานราชการหลักก็จะเป็นทาง NIA ที่เป็นแม่งานหลักเกี่ยวกับเรื่องของตัวสตาร์ทอัพ แล้วก็มีหน่วยงานแบงก์ที่ยังมาออกในงานนี้ที่เหลือเป็นสตาร์ทอัพหมด ที่น่าสนใจคือสตาร์ทอัพที่เราเห็นมันแตกต่างจากปีแรก ๆ กล่าวคือปีแรก ๆ สตาร์ทอัพส่วนใหญ่จะเป็นสตาร์ทอัพที่เน้น B 2 C นะครับจะเน้นไปที่ตัวผู้บริโภค

หลัก ๆ ก็เป็นเรื่องขายของให้ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคประหยัดเวลาโน่นนี่นั่น แต่ปีนี้ผมเห็นมุมที่เป็น Health Tech มากขึ้น เป็นมุมสตาร์ทอัพที่ช่วยทำให้ดูแลสุขภาพหรือทำให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดีขึ้นเยอะขึ้น โซนเรื่องการศึกษามีบริการเพิ่มหลายตัว แล้วก็ปีนี้เห็นส่วนที่เป็น B2B เยอะขึ้นนะครับ เป็นสตาร์ทอัพที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้วก็มีมุมที่เกี่ยวกับเกษตรอันนี้ก็เยอะขึ้นครับ รวมถึงที่เกี่ยวกับชาวบ้านต่างจังหวัดอะไรอย่างนี้เยอะขึ้น และยังมีของต่างประเทศมาออกหลายบูธมาก

สำหรับผมปีนี้ที่ชอบกลับกลายเป็นมุมที่มีการแข่งขัน HACKATHON ซึ่ง  HACKATHON ก็คือมีโจทย์มาแล้วให้คนมาจัดทีมกันประมาณ 3-5 คน แล้วแก้โจทย์ให้จบภายใน 2 หรือ 3 วันนะครับ คือสร้าง Prototype ขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่นสมมติว่ามีโจทย์ซึ่งผมไม่รู้ว่าในงานโจทย์เป็นอะไรนะครับ พอดีว่าวันที่ผมไปมันเป็นวันเสาร์แล้วก็ยังเห็นมีคนนั่งแข่งกันอยู่ สมมติโจทย์เป็นเรื่องของ “คุณภาพชีวิตในเมือง”นะครับ ก็ให้เด็กหนุ่ม ๆ สาว ๆมาฟอร์มทีมกัน 3-5 คนแล้วแต่เกณฑ์จะกำหนดว่ากี่คน

แล้วฟอร์มทีมกันว่าจะแก้โจทย์นี้อย่างไร แต่ละคนก็มีวิธีคิดแบบอิสระแล้วทางผู้จัดก็จะเตรียม Mentor มาให้คำปรึกษามาให้คำแนะนำว่าไอเดียที่คิดเขาเป็นยังไงบ้าง ภายในระยะเวลา 2-3 วันนี่ต้องทำ Prototype ต้นแบบให้เสร็จ  ส่วนจะเป็นแอพฯ เป็นเครื่องมืออะไรก็ได้ครับ อาจจะอยู่ในกระดาษอยู่ในอะไรก็ได้ ทำเสร็จแล้วมีการพิมพ์คือเป็นการนำเสนอนะครับ ถ้าใครไอเดียดีมีความเป็นไปได้ก็จะได้รับทุน แบบนี้เรียกว่า “HACKATHON” ครับ ซึ่งมาจากแฮคเกอร์บวกมาราธอนเพราะฉะนั้นคนที่จะทำ  HACKATHON คือหาจุดที่คนอื่นเขาทำแล้วมันสำเร็จ เข้าถึงตรงนั้นเจาะให้ได้ ไม่ทำกว้าง ๆ เจาะให้ได้ แล้วทำอย่างต่อเนื่อง อันนี้ผมคิดว่าสนุกเพียงแต่ผมไม่มีเวลา แค่เดินรอบงานผมก็ใช้เวลาเดิน 2-3 ชั่วโมงแล้ว

แล้วผมเห็นมุมที่เป็นเรื่องของ “โดรน” มีมุมเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์คือตัวโดรนเยอะมากขึ้น ใช้ “โดรน”เป็นเครื่องมือในการทำงาน ส่วนสตาร์ทอัพนี่ก็เยอะขึ้นแล้วก็มีมุมที่เป็นเมคเกอร์สำหรับคนที่ชอบประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่แอพฯ อาจจะมีแอพฯเกี่ยวข้องก็แล้วแต่แต่อันนี้ให้ผลิตเป็นของ  ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจสำหรับงานสตาร์ทอัพ ผมถามหลายคนเขาบอกว่าคุณภาพของคนเดินงานดีขึ้นเยอะ ช่วงแรก ๆ คนยังไม่รู้ คนก็มาเยอะนะแต่มาเยอะเพราะไม่รู้ แต่ปีนี้คนไม่รู้ก็เยอะเพราะว่าเข้าใจว่าประชาสัมพันธ์ไม่ค่อยทั่วถึง แต่ว่าคนมาเดินนี่มีความตั้งอกตั้งใจมาเดิน ตั้งอกตั้งใจที่จะรู้ หรือเอาประโยชน์จากมันครับ

ทางผู้ดำเนินรายการยังได้ถามต่อว่าปีนี้เน้นเรื่องของ B2B เยอะขึ้นแต่ในส่วนของ B2C ที่จะตอบโจทย์ผู้บริโภคก็ยังมีอยู่ใช่หรือไม่  ก็อยากเรียนว่าจริง ๆมันไม่ใช่เน้นน่ะครับเพียงแต่ว่ามีหน้าใหม่ขึ้นมา สตาร์ทอัพเองผมเชื่อว่าตอนนี้แนวโน้มสตาร์ทอัพสำหรับพวก B2B มันมา แต่สตาร์ทอัพที่เป็น B2C มันเริ่มเยอะแล้วใช่มั้ยครับ แต่ว่าปีนี้ประเภทที่เป็น B2C จะมาเป็นพวก Health Tech คือเป็นสตาร์ทอัพทางด้านพวกช่วยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ เทรนด์ผู้สูงอายุ เทรนด์เรื่องการดูแลสุขภาพ มีพวกการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพผ่านออนไลน์หลายแอพฯเลยแล้วหลายตัวก็เห็นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว คือปีหนึ่งเราจะมีงานสตาร์ทอัพ 2-3 งานอ่ะ แล้วก็สตาร์ทอัพไทยแลนด์ก็เป็นงานใหญ่

ผมอยากแนะนำว่าถ้ามีงานอะไรอย่างนี้อยากให้ไปดูกัน อย่าไปคิดว่ามันเป็นงานที่ซ้ำ ๆ กัน ไปดูใช้เวลาไม่มากนัก อย่าง 1 วันผมก็ได้ 2 งาน พวกนี้ไปดูมันจะทำให้เกิดไอเดีย เกิดแรงบันดาลใจครับ ผู้ประกอบการหรือคนที่อยากจะจับมือกับธุรกิจก็มีโอกาส อย่างผมเห็นปีนี้คนที่เข้าไปดูหลาย ๆ บูธเข้าไปแล้วเขาถามแบบเป็นจริงเป็นจังนะ

อย่างเอ๊ะอันนี้มันคืออะไร จะเอามาช่วยอะไร เอามาทำอะไรได้บ้าง แล้วก็หลาย ๆ ตัวเราจะเห็นพัฒนาการของมันนะ สมมติว่ามันมีปัญหาอยู่ 10 อย่างคนแรกคิดแก้ปัญหาเรื่องที่หนึ่ง คนที่สองมาคิดแก้ปัญหาคนที่สอง โดยคนที่หนึ่งอาจจะตายไปแล้ว หรืออาจจะยังอยู่อะไรอย่างนี้ แต่ละคนก็พยายามที่จะทำให้มันดีขึ้นเรื่อย ๆ มันก็จะมีคนที่ล้มเหลวและออกไปจากตลาดก็จะมีคนใหม่เข้ามา มันก็จะเป็นอย่างนี้ล่ะครับ

ถามว่าแล้วมันจะเป็นการแย่งไอเดียกันหรือไม่  อยากเรียนว่าไอเดียในวงการสตาร์ทอัพเขาบอกว่ามีค่าเท่ากับศูนย์ ไอเดียมันจะไม่มีประโยชน์ถ้าไม่ได้ทำ  สิ่งที่เราคิดยังไม่ถือว่าเป็นนวัตกรรมจนกว่าเราได้ทำให้มันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่คิดแปลว่าคนอื่นก็มีสิทธิคิดได้อาจจะคิดก่อนเราอีกแต่เขาทำไม่ได้ หรืออาจจะคิดหลังเราก็ได้หรือคิดพร้อมกับเราก็ได้

เพราะฉะนั้นไอเดียมีค่าเท่ากับศูนย์ถ้าไม่ได้ทำ เพราะฉะนั้นในวงการสตาร์ทอัพเวลาสมมติว่าเรามีไอเดียแล้วเราไปบอกว่าเราจะทำแบบนั้นแบบนี้  สิ่งที่สำคัญคือทำแบบไหนแล้วให้มันเกิด ไม่ใช่คิดแบบไหนนะจะทำอย่างไรให้มันเกิด คิดนี่ใครก็คิดได้อย่างถ้าอยากดูไอเดียใหม่ ๆ ขอแนะนำเว็บไซต์ชื่อ Kickstarter   เป็นเว็บไซต์ที่เราเรียกว่า Crowdfunding Platform เป็นเว็บไซต์ที่ใครมีไอเดียอะไรต่าง ๆ ในการทำของให้ทำ Prototype

แล้วเอาตัว  Prototype อาจจะเป็นรูปวาด การ์ตูน หรือเป็นกระดาษ เป็นอะไรก็ได้นะ แล้วบอกว่าคุณจะทำอันนี้ให้สำเร็จโดยวิธีไหนแล้วต้องใช้เงินเท่าไหร่ แล้วคุณจะขายกี่บาท แล้วโพสต์ขึ้นไปคลิปวีดีโอนะในเว็บ Kickstarter.com คนมาดูชอบก็จ่ายเงินซื้อ จองล่วงหน้า เหมือนกับการให้ทุนแต่เป็นการซื้อของ เช่นผมอยากจะผลิตของชิ้นหนึ้งขึ้นมา ชิ้นหนึ่งประมาณสัก 10 เหรียญสมมติ ระดมทุนขึ้นมานี่จะต้องการคนมาร่วมซื้อประมาณ 10,000 คน แปลว่าต้องการได้ 100,000 เหรียญ ถ้ามีคนซื้อล่วงหน้าต่ำกว่า 10,000 คน ผมก็ผลิตไมได้ถูกมั้ย ผมก็อาจจะคืนเงินไป แต่ถ้ามีคนจองมาจ่ายเงินล่วงหน้าเกิน 10,000 คน ยิ่งเกินมากเท่าไหร่ผมก็มีเงินมากเท่านั้น มันก็จะทำให้ของที่ผมทำนี่มีโอกาสที่จะถูกลง ผมก็จะมีโอกาสกำไรมากขึ้นอีก แต่ก็มีโครงการที่ล้มเหลวเยอะนะ อันนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าไปดูไอเดียใหม่ ๆได้เลยที่เว็บนี้

เว็บนี้เป็นของฝรั่งแต่มีคนไทยไปโพสต์ด้วย มีคนไปขายไอเดียในนั้นด้วยครับ จริง ๆ ประเด็นคือว่ามีคนพยายามทำโมเดล Kickstarter เป็นภาษาไทยในเมืองไทย ปัญหาคือตลาดเมืองไทยมันเล็กเกินไป เพราะฉะนั้นมันเลยไม่เกิด นอกจากนี้คนมาซื้อของแบบนี้น้อยแต่คนไทยเวลาคิดอะไรก็คือเอาไปโพสต์ลง  Kickstarter แทนแล้วมีโอกาสที่จะได้เงินมากกว่า มีอย่าง “คุณหมู OOKBEE”เคยทำโปรเจ็กการ์ตูนแล้วไประดมทุนใน Kickstarter 1 ล้านมั้งถ้าผมจำไม่ผิด ก็มีคนจ่ายเงินซื้อการ์ตูนก็ขายได้

ที่ผมบอกว่า Fail หรือล้มเหลวนั้น อยากเรียนว่า Fail อันแรกคือเพราะว่ามีคนจ่ายเงินมาไม่ถึง Fail อันที่สองคือได้เงินมาครบแต่ปรากฎว่าทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะตอนที่เขาขายเป็นเพียงแค่ไอเดียไง เขายังไม่ได้ทำของจริงออกมาใช่มั้ยเพียงแต่ว่าเขาระดมทุนขายของล่วงหน้าเพื่อเอามาทำ ทีนี้ถ้า Fail ส่วนใหญ่เขาก็ต้องแจ้งให้คนที่ซื้อว่า Fail บางคนมีคนมีเงินเหลือคืนก็คืนไปเท่าที่เหลือ บางคนไม่มีเงินใช้ไปหมด Fail ทุกคนก็ต้องยอมรับไป เขาก็ไม่ได้ซีเรียสแต่ว่าคนที่ Failมันก็จะถูก Record ไว้ไง ประวัติเสียว่างั้น มันก็เป็นโอกาสดีนะ ผมคิดว่าว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเห็นไอเดียอีกเยอะ มันจะทำให้รู้ว่าเราจะทำธุรกิจเรามันมีวิธีการต่อยอดแบบไหนอย่างไรบ้าง

ผู้ดำเนินรายการยังได้ยกตัวอย่างมาสอบถามว่า เหมือนอย่างกรณีแอพฯ“จองคิว”หรือไม่ที่พูดกันเยอะตอนนี้ จากเดิมเห็นจองในร้านอาหารแต่ตอนนี้เข้าไปในโรงพยาบาลแล้ว  ผมอยากเรียนว่าเป็นเพราะคนไม่อยากเสียเวลา ปัญหาการแก้ปัญหาพวกนี้ใช่อยู่ที่ไอเดียเพราะทุกคนเห็นปัญหาอยู่แล้ว ปัญหามันอยู่ที่ว่าจะมีใครยอมมาใช้และเราจะได้เงินจากมันอย่างไรนะครับ

อย่างจู่ ๆ มีคนมาเสนอผมว่ามาเปิดแอพฯจองคิวให้ร้านอาหารผม คำถามคือทำไมผมต้องติดถูกมั้ย คนส่วนใหญ่ผู้ประกอบการก็จะคิดแบบนี้ไม่ได้มองว่าถ้าผมเอาแอพฯ “จองคิว”มาใช้มันก็อาจทำให้ลูกค้านี่ยอมมากินร้านผมมากขึ้น หลายคนอาจจะบอกว่าถ้าอย่างนี้อาจจะมีคนไม่มากินอาหารที่ร้านแล้ว แล้วพวกนี้เขาก็คิดค่าธรรมเนียมถูกมั้ย หลายคนก็ยอมจ่าย หลายคนไม่ยอมจ่าย ธุรกิจขนาดไซต์ M พร้อมที่จะจ่ายพวกนี้มากกว่าไซต์ S เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงเอสเอ็มอีไซต์ S นี่บางทีไม่ยอมลงทุน คิดว่าเป็นต้นทุน แต่ไซต์ M นี่เขามีกำลังไง เขาก็พร้อมทดลองทีละสาขา ใช่มั้ย ไม่ต้องทีเดียวทั้งหมด แต่ถ้าไซต์ใหญ่กว่าไซต์ M นี่เขาจะคิดใหญ่มาก