โดย ดร.โดม อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด
สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยในรายการ SME CHAMPION ทางคลื่น FM. 89.5 สถานีวิทยุราชมงคล ธัญบุรี วันนี้ (25 มิ.ย.) ยังคงมีประเด็นที่น่าสนใจมาพูดคุยเหมือนเช่นทุกวัน ประเด็นวันนี้ทางผู้ดำเนินรายการได้หยิบยกเรื่องของ “นวัตกรรม” กับธุรกิจเอสเอ็มอีมาร่วมพูดคุย ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจทีเดียว
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจนิยามของนวัตกรรมก่อนว่าคืออะไร นวัตกรรมคือสิ่งที่คิดขึ้นมาใหม่ถูกมั้ยครับแล้วมันตอบโจทย์ในแง่ของตัวผู้บริโภค เอาผู้บริโภคเป็นตัวตั้งนะก็คือสิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคเอาคำนิยามแบบง่าย ๆ นะ ฉะนั้นคำถามคือว่าอะไรบ้างที่มันเป็นนวัตกรรมคือมันไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้าใหม่ก็ได้ เพราะว่าในแง่ของตัวผู้บริโภคนั้นบางทีไม่ได้ต้องการสินค้าหรือบริการใหม่เลย ซึ่งอาจจะเป็นสินค้าหรือบริการเดิมแต่ทำให้มันดีขึ้น
หรืออาจจะเป็นเรื่องของ Process ก็ได้ครับคือไม่จำเป็นจะต้องเป็นสินค้าหรือบริการหรือฟังก์ชั่นใหม่ แต่อาจจะเป็นบริการที่มันทำให้กระบวนการในแง่ของการใช้ กระบวนการในแง่ของการให้บริการมันดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่นปกติเราไปทานอาหารหรือไปที่โรงพยาบาลก็ต้องต่อคิวนานใช่มั้ย ถ้ามันมีระบบที่ทำให้เราสามารถที่จะต่อคิวได้สั้นลงหรือรู้ว่าถึงคิวเราแล้วหรือยัง หรือจองคิวได้ตั้งแต่ที่บ้านอันนี้ก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมนะครับ
นวัตกรรมอีกแบบหนึ่งคือนวัตกรรมที่อยู่ส่วนที่เกี่ยวกับหลังบ้าน ไม่ได้เกี่ยวกับผู้บริโภคโดยตรงแต่มีผลทำให้ผู้บริโภคมีบริการที่ดีเหมือนเดิมก็ได้ครับ แต่ราคาที่ถูกลงหรือสามารถที่จะบริการคนได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น อย่างกรณีมือถือทุกวันนี้ถามว่าคนเราใช้มือถือเป็นปกติเลยใช่มั้ย ในแง่ของคนใช้ก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก ก็หยิบมือถือมาแล้วก็โทรฯแต่นวัตกรรมมันไปอยู่ที่ฝั่งเรื่องของเทคโนโลยีที่ผู้บริโภคไม่รู้หรอกแต่ว่าในแง่ของผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการเนี่ยมีการพัฒนาในแง่ของตัวเทคโนโลยีดีขึ้น
อันนี้ก็จะเป็นตัวอย่าง หรือกรณีการขับเคลื่อนรถโดยใช้ไฟฟ้าถามว่าผู้บริโภคเกี่ยวข้องโดยตรงมั้ย ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงแต่ว่าผู้บริโภคใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มันดีขึ้น กระบวนการผลิตหรืออะไรต่าง ๆ ที่มันดีขึ้น ทีนี้เวลาคิดเรื่องนวัตกรรมต้องเรียนว่าตัวผู้ประกองการส่วนใหญ่มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เป็นคนคิดเป็นคนสร้างนวัตกรรมโดยตรง กลุ่มนี้ก็จะต้องมีนักวิจัยที่จะต้องคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมา นักวิจัยกลุ่มนี้อาจจะเป็นนักวิจัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการออกแบบผลิตภัณฑ์ อาจจะเกี่ยวข้องในแง่ของการออกแบบกระบวนการภายในหรือกระบวนการที่ต้องสัมผัสกับผู้บริโภค
หรืออาจจะเป็นคนที่ออกแบบเกี่ยวกับเรื่องของการผลิต หรืออาจจะเป็นคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทเลยแต่มองเห็นปัญหาของตัวผู้บริโภคแล้วก็ผู้ให้บริการและทำหน้าที่เป็นตัวกลาง กลุ่มสุดท้ายเนี่ยเป็นที่มาของพวกสตาร์ทอัพ ซึ่งสตาร์ทอัพส่วนใหญ่คือมองเห็นปัญหาของผู้บริโภค แล้วก็มองเห็นปัญหาของตัวผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการ แล้วก็พยายามคิดขึ้นมาว่าเอ๊ะมันมีบริการหรือมันมีผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่เข้ามาแก้ปัญหาตรงนั้น อันนี้เป็นกลุ่มที่คิดนวัตกรรมโดยตรง
อีกกลุ่มหนึ่งถ้าเป็นเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่ไม่ได้คิดนวัตกรรม แต่ไปเอานวัตกรรมที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเองนะครับ ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างกรณีร้านอาหารเมื่อกี้เราพูดถึงเรื่องการจองคิวก็มีคนคิดเรื่องของการจองคิวมาให้แล้วโดยใช้แอพฯ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะไปคิดระบบการจองคิวออนไลน์อาจจะไม่คุ้มเพราะต้องลงทุนค่อนข้างเยอะ ไปซื้อนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้เอามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจตัวเอง อันนี้ก็เป็นกลุ่มหนึ่ง เพราะฉะนั้นเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีเงินลงทุนมากก็จะไปหยิบยืมนวัตกรรมที่มีคนอื่นคิดแล้วมาประยุกต์ใช้
ในเมืองไทยเองมีหน่วยงาน ที่ส่งเสริมหรือพัฒนาเรื่องนวัตกรรมเยอะถูกมั้ยครับ กระทรวงวิทยาศาสตร์เองก็จะมีสำนักนวัตกรรมแห่งชาติ หรืออย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในสวทช.ก็จะมีหน่วยงานที่คิดค้นเรื่องนวัตกรรมค่อนข้างเยอะ ซึ่งมีนักวิจัยช่วยคิดให้มากเลย ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอสเอ็มอีสามารถเข้าไปช้อปปิ้งไอเดียได้เลยว่าไอเดียแบบนี้ใช้ได้มั้ย แล้วถ้าทำอยู่แล้วอาจจะไปร่วมขอลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรมาใช้แล้วก็จ่ายเงินไป หรือบางทีหน่วยงานเหล่านี้มีงบในแง่ของการช่วยคิดนวัตกรรมให้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็แค่ไปร่วมโครงการ โดยทางหน่วยงานเหล่านี้ก็จะมีนักวิจัยมาช่วยคิดนวัตกรรมให้โดยที่เราไม่ต้องควักเงิน บางครั้งก็ให้เป็นหลักหลายล้าน 3 ล้าน 5 ล้านเลย
บางทีเราไม่มีไอเดียแต่เราคิดว่าเรื่องแบบนี้มันน่าจะแก้ปัญหาได้หรือมันน่าจะทำได้ หรือถ้ามันทำดีขึ้นน่าจะเป็นประโยชน์ เข้าไปปรึกษาเลยครับอาจเป็นแค่แนวคิดหยาบ ๆ ยังไม่ลงรายละเอียด แล้วก็ไปหาไอเดียจากการไปปรึกษากับนักวิจัย ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่นวัตกรรมที่คิดขึ้นมาจะอยู่บน 2 ฐานคือ ฐานหนึ่งคือเอาเทคโนโลยีเข้าไปช่วยในแง่ของกระบวนการต่าง ๆ นะครับ อีกฐานหนึ่งคือไม่ได้เอาเทคโนโลยีเป็นตัวหลักแต่เอาวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วย ทีนี้ต้องเรียนว่าปัจจุบันนี้เวลาเราคิดถึงนวัตกรรมแบบใหญ่ ๆ ระดับโลกมันก็ต้องบอกว่าเมืองไทยมักจะเป็นผู้ตามนะ แต่มีหลายอย่างที่คนไทยคิดเองแล้วก็นำไปสู่ตลาดโลกได้ค่อนข้างเยอะอย่างหุ่นยนตร์ดูแลผู้ป่วย จริง ๆ มีหลายอย่างบังเอิญผมจำรายละเอียดไม่ได้ เคยมีโอกาสไปช้อปปิ้งตามงานพวกงานนวัตกรรมต่าง ๆ ซึ่งน่าไปดูมาก
อย่างล่าสุดเมื่อศุกร์เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาก็จะเป็นงานของตัวเทคซอสอย่างนี้ ซึ่งเทคซอสก็จะเป็นงานสตาร์ทอัพที่ต้องบอกว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทยนะครับ ซึ่งเราเคยคุยครั้งหนึ่งอันนั้นเป็นงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์อันนั้นก็คือเน้นประเทศไทยเป็นหลัก งานเทคซอสมันจัดโดยภาคเอกชนเป็นงานที่มีนวัตกรรมมีสตาร์ทอัพใหม่ ๆ ที่มันจะไม่ใช่เป็นพวกเทคโนโลยีอย่างเดียวแล้ว มันจะเป็นพวกทางด้านพลังงานจะเริ่มมีเข้ามา มีเรื่องเกี่ยวกับเฮลล์เทคเรื่องสุขภาพ เกษตรอะไรอย่างนี้ ก็จะมีคนมาคิดด้านนี้เยอะเพราะว่ามันเป็นงานในระดับเซาท์อีสเอเซีย
ทีนี้สิ่งที่ผมมักจะคุยกับตัวลูกค้าผมส่วนหนึ่ง ผมมองว่าวันนี้เนี่ยอยากให้ไปดูเรื่องของโมเดลการเก็บเงินหรือรายได้ซึ่งเป็นโมเดลใหม่แล้วเอาไปทำเรื่องนวัตกรรมได้ง่าย ๆ เพราะว่ามันทำให้มองภาพของลูกค้าที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือในอดีตเรามักจะมองว่าคนซื้อก็จ่ายเงินมาฉันก็ให้สินค้าไปแล้วก็จบถูกมั้ยครับ แต่วันนี้หลาย ๆ เทคโนโลยีมันเปลี่ยนโมเดลในเรื่องของการจ่ายเงินได้เลย ยกตัวอย่างก็คือว่ามีธุรกิจที่รับติดตั้งเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรม โดยง่ายที่สุดคือการเปลี่ยนหลอดไฟจากหลอดไฟปกติมาเป็นหลอดแอลอีดี แล้วก็ถามว่าดูธรรมดามากดูเหมือนไม่มีอะไรเลยเป็นปกติ แต่โมเดลเขาเปลี่ยนคือว่าเขาไม่คิดค่าเปลี่ยนหลอดไฟ แต่เขาคิดเงินจากการใช้กระแสไฟฟ้าลดลง เขาเก็บเงินจากส่วนต่าง
สมมติเคยใช้เงินอยู่ประมาณเดือนละ 2 แสนบาทแล้วถ้าใช้ได้เหลือประมาณ 1.2 แสนบาทอะไรอย่างนี้ ส่วนต่างที่ได้ส่วนหนึ่งบริษัทที่เป็นเจ้าของธุรกิจก็เก็บไป อีกส่วนหนึ่งก็คือคืนให้กับคนที่มาเปลี่ยนหลอดไฟเรียกว่าเหมือนเป็นค่าประกันถ้าค่าไฟไม่ลดลงแปลว่าคุณก็ไม่ต้องจ่ายใช่มั้ยครับ แต่ถ้าค่าไฟคุณลดลงแปลว่าคุณก็จ่าย หรือบางธุรกิจตอนที่รัฐบาลยังส่งเสริมเรื่องของโซล่าร์รูฟคือติดตั้งหลังคาแผงโซลาร์เซลแล้วก็สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าโรงงานได้นะครับ ก็ไปติดตั้งเลยครับโรงงานก็ประหยัดไฟและมีการเก็บเงินจากโรงงานที่ประหยัดไปได้ แล้วก็ถ้าขายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ก็ขอส่วนแบ่งจากกระแสไฟฟ้าที่เข้าระบบครับ
พวก Business Model ใหม่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องของการหารายได้มันเปลี่ยนไปจากเดิม มีบางธุรกิจเนี่ยรับซื้อขยะเปียกเสร็จแล้วซื้อแบบคุณไม่ได้จ่ายเงินโดยตรง หมายถึงคุณต้องเตรียมขยะเปียกแยกให้ชัดเจนนะครับแล้วก็มารับไป เสร็จแล้วเขาก็เอาไปผลิตเป็นพลังงานหรือผลิตเป็นปุ๋ย คนที่มีขยะเปียกเยอะ ๆ ก็สามารถที่จะลดต้นทุนตรงนี้ได้นะครับ อันนี้ก็เป็น Business Model ใหม่ ๆ ที่มันเกิดขึ้น ถามว่า Business Model ใหม่ ๆ พวกนี้เกิดขึ้นได้จากการที่มันมีนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่นวัตกรรมใหม่ ๆ พวกนี้คนที่ทำบางทีเขาไม่ได้คิดเองถูกมั้ยเพราะว่ามีคนอื่นคิดมาแล้ว แต่สิ่งที่เขาทำคือเขาเอานวัตกรรมเหล่านี้มาทำเป็นธุรกิจนะครับ อย่างที่เราเห็นพวกแกร็บไบค์ หรือแกร็บแท็กซี่ถามว่านี่เป็นนวัตกรรมใหม่หรือ มันก็ไม่ใช่มันมีอยู่แล้วเพียงแต่ว่าเอามาประยุกต์ใช้กับตัว Business Model ใหม่ ๆ
ฉะนั้นวันนี้เนี่ยเวลาเราพูดถึงเรื่องของนวัตกรรม ถึงบอกว่าตัวผู้ประกอบการต้องมองว่าตัวเองจะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มันมีอยู่แล้วให้มากที่สุด แค่ไหนอย่างไร พอดีว่าของเราเป็นรายการเกี่ยวกับเรื่องเอสเอ็มอีถูกมั้ยครับ เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากจะส่งเสริมให้เอสเอ็มอีพยายามมองคือต้องมองไปให้ถึงว่ามันมีประโยชน์ที่มีคนคิดเรื่องของนวัตกรรมแล้วก็เอาแนวคิด หรือนวัตกรรมเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจตัวเองอย่างไร หน่วยงานรัฐมีนวัตกรรมเยอะมาก งานของหน่วยงานรัฐนั้นเข้าใจว่าประมาณสักต้นเดือนหน้าจะมีงานของสวทช.นะ ก็เป็นงานหนึ่งที่ควรจะไปดู
การเสียเวลานี่มันคือต้นทุนที่ค่อนข้างเยอะมากสำหรับเอสเอ็มอี ก็ไปดูงานวิจัยพวกนี้แล้วเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ทีนี้สิ่งที่ยากก็คือว่าแล้วลูกค้ามันจะตอบสนองกับสิ่งที่เราอยากจะนำเสนอหรือไม่ อันนี้อย่างที่เรียนว่าตอนนี้มันเป็นเรื่องโชคดีไง เพราะว่ามันอยู่ยุคสมัยที่ต้นทุนในการทำต้นแบบมันถูกลงเรื่อย ๆ แล้วหน่วยงานต่าง ๆ ที่ส่งเสริมเรื่องนวัตกรรมส่วนใหญ่ก็จะมีงบในการทำต้นแบบ แล้วก็งบในการทดสอบตลาดให้ด้วยนะครับ เพราะฉะนั้นหลาย ๆ หน่วยงานสามารถที่จะประยุกต์ใช้เรื่องพวกนี้ได้ค่อนข้างเต็มที่ครับ
มันก็มีคำถามว่าถ้ามีงานออกมา บางทีงานก็ลักษณะคล้าย ๆ กัน ถามว่ามันจะซ้ำซ้อนกันมั้ย ต้องเรียนอย่างนี้ครับผมค่อนข้างเชื่อในแง่ของกฎการคัดเลือกตามธรรมชาตินะครับ ก็คือว่าอย่างส่วนใหญ่นวัตกรรมของภาครัฐเอง พวกสิทธิบัตรต่าง ๆ จะไม่ให้เอกชนรายใดรายหนึ่งซื้อไปแล้วผูกขาด ยกเว้นว่าเราเป็นคนคิดแต่ถ้าหน่วยงานรัฐคิดก็คือว่าเปิดให้เอกชนใช้โดยที่เอกชนก็อาจจะไปจ่ายค่าสิทธิบัตรในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เสร็จแล้วก็เอาไปแข่งกันในแง่ของการทำตลาด เอาไปต่อยอดต่อ ใครต่อยอดได้เก่งกว่าเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าคนนั้นเอาไป แต่ถ้าบางหน่วยงานสมมติว่ามีการดีลกันระหว่างภาคเอกชนกับภาครัฐหรือมหาวิทยาลัยแล้วได้สิทธิบัตรบอกว่าอันนี้เฉพาะฉันคนเดียว เอกชนก็ต้องจ่ายแพงหน่อย เคยได้ยินถังเช่ายี่ห้อหนึ่งที่โฆษณาบอกว่าได้อนุสิทธิบัตรร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตร อันนี้เขาก็ได้อนุสิทธิบัตรแล้วก็ตัวอาจารย์ที่ทำวิจัยเรื่องนี้เองเขาก็ให้สิทธิกับเอกชนแค่รายเดียว เอกชนนั้นก็ให้ผลตอบแทนกับอาจารย์นะ แล้วตัวอาจารย์ก็ให้ผลตอบแทนส่วนหนึ่งกับมหาวิทยาลัย ทีนี้อนุสิทธิบัตรที่ได้ก็คือว่าเอกชนรายอื่นก็เอาไปใช้ไม่ได้นะครับ อันนี้อาจจะต้องจ่ายแพงหน่อยก็ต้องให้เป็นหุ้นเป็นอะไรไป
วันนี้ผมมองว่างานวิจัยของไทยมีเยอะมาก แล้วก็มีเอสเอ็มอีที่เข้าไปใช้ประโยชน์กับพวกนี้เยอะมาก ทีนี้ปัญหาคือว่าเอสเอ็มอีที่อยากจะคิดค้นเรื่องนวัตกรรมจะต้องให้ความสนใจกับหน่วยงานพวกนี้ แล้วเข้าไปคุยหรือเข้าไปปรึกษาหารือ สุดท้ายแล้วมันไม่ได้แข่งกันที่ตัวนวัตกรรมแต่มันไปแข่งขันที่มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งมาร์เก็ตติ้งจะกลายเป็นเรื่องสำคัญมาก เอาง่าย ๆ อย่างที่เราชอบยกตัวอย่างกันมากก็คือว่าอย่างไอพ็อต แนวคิดของไอพ็อตก็คือเป็นเครื่องเล่น MP3 ซึ่งเครื่องเล่น MP3 เจ้าแรกไม่ใช่โดยแอปเปิ้ลแต่ผลิตโดยบริษัทชื่อครีเอทีฟ แต่ว่าบริษัทนื้ทำแล้วมันทำให้ไม่สามารถขายผู้บริโภคได้ ด้วย 2-3 เหตุผล ประการแรกคือมันแพงมาก สองคือมันเทอะทะ และสามคือบรรจุเพลงได้น้อย มันเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้นนะแล้วผมเคยซื้อเครื่องหนึ่งราคาหลายพันเกือบหมื่นนะ เดี๋ยวนี้มันเป็นเรื่องธรรมดามาก ทีนี้พอแอปเปิ้ลออกมาปุ๊บเอ๊ะมันดูเท่ห์มาก
VIDEO