คุยกันมาต่อเนื่องผ่านรายการ SME CHAMPION ทางคลื่น FM. 89.5 สถานีวิทยุราชมงคลธัญบุรี ในประเด็นเรื่องของตลาดแรงงานในปี 2561 ตั้งแต่เรื่องของ Gig Economy รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเรื่องที่กำลังจะคุยต่อไปนี้

ปรับตัวอย่างไร ?? รับมือเครื่องจักรทำงานแทนคน (มีคลิป)
โดย ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด
คุยกันมาต่อเนื่องผ่านรายการ SME CHAMPION ทางคลื่น FM. 89.5 สถานีวิทยุราชมงคลธัญบุรี ในประเด็นเรื่องของตลาดแรงงานในปี 2561 ตั้งแต่เรื่องของ Gig Economy รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเขตเศรษฐกิจพิเศษ และเรื่องที่กำลังจะคุยต่อไปนี้
นั่นคือประเด็นเรื่องการปรับตัวของแรงงานที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ ในยุคแรงงาน 4.0 อะไรจะเกิดขึ้นทั้งในส่วนของผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการ เป็นเรื่องที่น่าคิดน่าติดตาม ล่าสุด (31 ม.ค.)ที่ผ่านมาทางผู้ดำเนินรายการSME CHAMPION ได้สอบถามความเห็นจากผมจากกรณีดังกล่าว
ก็ต้องขอเรียนว่าจากที่ได้คุยกันมาหลายครั้งแล้วว่า ถ้าเป็นแรงงานที่ไม่มีฝีมือหรือมีฝีมือไม่มากยกตัวอย่างเช่นแรงงานที่อยู่ในโรงงานที่ต้องประกอบชิ้นส่วน คนพวกนี้สามารถใช้หุ่นยนต์แทนได้หมด นั่นคือกลุ่มแรก
ส่วนกลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่ต้องใช้ทักษะบ้างเช่นคุมเครื่องจักร คุมอะไรต่าง ๆ พวกนี้โอกาสตกงานก็มีบ้าง เนื่องจากพออุปกรณ์มันมีการพัฒนามากขึ้นอาจจะไม่จำเป็นต้องมีคนคุมแล้ว เช่นสมมติว่าโรงงานหนึ่งมีเครื่องจักรอยู่ประมาณ 20 ตัว มีคนคุม 20 คน พอลงทุนใหม่ก็อาจจะมี 20 ตัวเหมือนเดิมเพียงแต่ว่าทั้ง 20 ตัวนั้นมันถูกเชื่อมโยงด้วยระบบคุมโดยคน ๆเดียวได้
กลุ่มที่สาม คือแบบที่ต้องมีทักษะหรือความรู้ในการที่จะพัฒนาหรือทำให้เครื่องจักรมันดีขึ้น กลุ่มนี้ยังหาคนแทนยาก อันที่สามไม่สามารถเอาเครื่องจักรมาแทนคนเพื่อไปพัฒนาเครื่องจักรให้มันดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้นกลุ่มที่สามนี้ถ้าพูดถึงเฉพาะโรงงานในอุตสาหกรรม ถือว่ากลุ่มที่สามนี่ยังมีโอกาส หรือคนที่มาช่วยคิดหรือออกแบบว่าผลิตภัณฑ์นั้นควรเป็นแบบไหนอย่างไรในการขาย ตรงนี้เครื่องจักรก็ยังแทนไม่ได้
เพราะฉะนั้นในหมวดโรงงานก็จะเห็นว่า กลุ่มที่ไปก่อนคือกลุ่มที่มีทักษะน้อยหรือไม่มีทักษะเลย กลุ่มที่มีทักษะในการคุมเครื่องจักรแต่พอเขาเอาระบบอิเลคทรอนิคส์มาใช้กับเครื่องก็ต้องไป เพราะฉะนั้นกลุ่มที่ยังอยู่มั่นคงต่อเนื่องก็คือกลุ่มที่สามารถบำรุงรักษาเครื่องจักรเพื่อให้มีความสามารถมากขึ้น
และในส่วนของกลุ่มที่สี่คือ กลุ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค กลุ่มนี้ก็ยังอยู่
ก็ต้องเรียนอย่างนี้นะครับว่า เครื่องจักรไม่สามารถมาแทนคนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทีนี้ถ้าเป็นแรงงานที่ทำงานอยู่แล้ววันนี้สิ่งที่ต้องคิดก็คือว่าทำยังไง ??? คือเรื่องโรงงานที่เขาต้องเอาเครื่องจักรมาแทนถือเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มาแทนปุ๊บเรายังหางานใหม่ได้ และโอกาสทำงานในที่เดิมคงไม่มีแล้วก็ต้องคิดว่าเราจะไปหางานอย่างไรกัน
ผมก็ขอเรียนต่อว่า ถ้าหากมีโอกาสอยากให้ไปฝึกอย่างที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เขาจะมีหลักสูตรฝึกอบรมให้ปรับตัวกัน เราสามารถไปฝึกได้ส่วนใหญ่ฟรี ถามว่าฝึกอะไรกันบ้าง อย่างเช่นมีเป็นอาชีพอิสระไม่ใช่ Gig Economy นะ เช่น การซ่อมไฟ ห้องน้ำ ประปา ทาสีรั้วบ้าน อะไรที่มันใช้ทักษะไม่มากนัก จะเป็นเป้าใหม่ของตลาด เพราะในอนาคตคนจะซ่อมอะไรไม่เป็น กลุ่มคนที่เป็นคนชั้นกลางจะซ่อมอะไรไม่เป็น คนที่จะซ่อมอะไรได้จะมีอาชีพคือการรับจ้างเขา ค่ารับจ้างดูแล ซึ่งอันนี้ถ้าเรียนรู้กันตั้งแต่ตอนนี้มีโอกาสมากเลยที่จะไปเป็นอาชีพอิสระได้
“ผมว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ในอนาคตต้องการอย่างมาก นี่ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง อีกทางเลือกหนึ่งก็คือว่าต้องไปเรียนรู้เพิ่มเติม”
นั่นคือเรียนรู้อะไรที่มันจะเข้าไปตลาดแรงงาน ก็คือต้องมองว่าวันนี้พอเขาเอาเครื่องจักรเข้ามาแทนเราแล้วเครื่องจักรเก่าเขาเอาไปไหน เครื่องจักรเก่าพวกนี้เขาก็เอาไปตั้งในโรงงานต่างประเทศที่ค่าแรงถูก ซึ่งอันนี้เป็นวิธีการพัฒนาประเทศ อย่างสมัยก่อนญี่ปุ่นเจริญเขาก็โละเครื่องจักรเก่าไปให้ไต้หวันแล้วก็ไทย พอไต้หวันเจริญก็โละทุกอย่างมาไทย
นั่นคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และอยากจะอธิบายความต่อว่าฉะนั้นเมื่อประเทศไทยของเราเจริญขึ้นก็ต้องเอาเครื่องจักรมาแทนคน เพราะถ้าจะจ้างคนต่อไปคงไม่ไหวเนื่องจากค่าแรงมันแพง แล้วเครื่องจักรเหล่านี้เขาจะไปไหน ก็เอาไปกัมพูชา พม่า เวียตนามบางส่วนเพราะค่าแรงมันถูก
นอกจากนี้อยากเรียนต่อว่า เวลาพวกบริษัทต่าง ๆจะเอาเครื่องจักรทันสมัยมาแทนนั้นเขาไม่ได้เอามาแทนทีเดียวเลย แต่จะต้องดูว่าในแง่ของศักยภาพของคนในพื้นที่นั้นดูแลได้หรือไม่ เพราะการลงทุนมันแพง เช่นกรณีของหุ่นยนต์เข้ามาทำงานในโรงงานไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมี เรื่องนี้มีการคุยกันมานาน 10 ปี 20 ปีแล้ว เพียงแต่ว่าในอดีตสิ่งนี้มันเหมาะกับญี่ปุ่น เหมาะกับสหรัฐอเมริกา ยังไม่เหมาะกับประเทศไทย แต่ตอนนี้เครื่องจักรมันก็ถูกลงเรื่อย ๆ แต่ว่ามันก็ยังแพงอยู่เมื่อเทียบกัน ซึ่งสมมติว่าต้องเอาเครื่องจักรทันสมัยไปตั้งโรงงานในกัมพูชาการจ้างค่าแรงถูก ๆก็ยังแพงกว่าเลย