“ทุนนิยมปราศจากทุน” จากคำนิยามสู่การจัดการสมัยใหม่??? (มีคลิป)

  โดย ดร.โดม อุดมธิปก ไพรเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล บิสิเนส คอนซัลท์ จำกัด

เมื่อวานเราคุยกันในหัวเรื่อง Capitalism Without Capital”หรือ “ทุนนิยมยุคปราศจากสินค้าทุน” ทุนนิยมใหม่กับการวิเคราะห์ใน 2 ประเด็นหลักคือ เรื่องการขยายตัวแบบรวดเร็ว กับเรื่องทุนจมหาย หรือ Sunk cost รวมถึงประเด็นอื่น ๆ วันนี้ (9 ก.พ.) มาคุยกันต่ออีกครั้งในรายการ SME CHAMPION ทางคลื่น FM. 89.5 สถานีวิทยุราชมงคล ธัญบุรี ต่อเนื่องจากคราวที่แล้ว เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการเติมเต็มให้กับผู้ที่สนใจอย่างมากมาย

ก็ต้องขอเรียว่าที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ตัวผมไม่ได้เป็นคนคิดขึ้นมาเองเพราะมันมีคนคิดมาแล้ว แล้วก็เขียนเป็นหนังสือเรื่องนี้เลยนะครับ ก็เอามาคุยมาร่วมแลกเปลี่ยนกันในรายการให้ได้ฟังกัน

ต้องบอกว่าโมเดลในอดีตเวลาเราจะทำธุรกิจทุนที่สำคัญที่สุดก็คือ 4 M ได้แก่เรื่องของที่ดิน เรื่องเงิน เรื่องคน และเรื่องการจัดการ เวลาทำธุรกิจเรื่องการจัดการไม่ได้เป็นทุนเท่าไหร่แต่ว่า 3 ตัวแรกถือเป็นทุนที่สำคัญมาก เราก็เอาการจัดการเข้าไปทำให้เกิดธุรกิจขึ้น

ทีนี้ทุนนิยมสมัยใหม่ที่ดินไม่ได้มีความจำเป็น แต่เงินยังมีความจำเป็นอยู่แต่มีรูปแบบการใช้เงินที่แตกต่างค่อนข้างเยอะครับ แล้วก็ในแง่ของคนก็ไม่ได้ใช้  คนไปทำโรงงานแล้ว  เอาคนมาคิดเป็นหลัก มาเขียนซอฟแวร์เป็นหลักใช่มั้ย

ฉะนั้นคนที่มาทำตรงนี้ในอดีตถ้าทำโรงงานอย่างที่เราคุยกันก็จะทำโรงงานหนึ่งโรงงาน เครื่องจักร แล้วก็เอาวัตถุดิบใส่เข้าไป ก็อาจจะได้ออกมาเช่นใส่ไป 100 อาจจะได้เป็นหมื่น หรือถ้าอยากได้ทวีคูณขึ้นมาเป็นสองเท่าก็ใส่ไป 200 ซะได้ออกมาเป็นสองหมื่น

แต่กรณีทุนนิยมที่ปราศจากทุนมันเอาเรื่องของ “ปัญญา”ใส่เข้าไป เอา “ทรัพย์สินทางปัญญา”ใส่เข้าไปโดยเฉพาะทรัพย์สินทางปัญญาที่มันเป็นเรื่องของดิจิตอล กรณีอย่าง Facebook , Google หรือตัว Amazon พวกนี้ใส่เข้าไป

อย่าง Amazon จริง ๆรายได้กำไรมากของเขาไม่ใช่มาจากตัวขายสินค้าหรือบริการ แต่มาจากการทำสิ่งที่เราเรียกว่า Cloud Service คือรับฝากไฟล์บนออนไลน์หรือรับฝากพวกโปรแกรมต่าง ๆบนออนไลน์ อันนี้คือรูปแบบแรก

อันที่สองอยากเรียนว่ามันเป็นสินค้าจม หมายความว่าถ้าไม่มีคนซื้อเลยลงทุนร้อยนึงก็ต้องจ่ายร้อยนึง แต่ถ้ามีคนซื้อร้อยนึงแทบจะไม่ต้องไปซีเรียสแล้วและเวลาขายออกไปก็ไม่ค่อยมีใครอยากเอาเพราะว่าคนที่ซื้อไปมันได้แต่สิ่งที่เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ครับ ยกเว้นอะไรที่มันเป็นพวกซอฟแวร์ ทีนี้ถ้าได้ซอฟแวร์ไปมันก็กลายเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์มากที่สุด

อีกแนวคิดหนึ่งก็คือว่า สินค้าประเภทนี้เวลาเอาไปใช้ประโยชน์มันได้อะไรที่ต่อเนื่องเยอะ ยกตัวอย่างเช่น Google ได้ทรัพย์สินที่สำคัญมากก็คือเรื่องของฐานข้อมูลของผู้ใช้ถูกมั้ยครับ ที่เราเรียกว่า Big Data มันไม่ใช่แค่ฐานข้อมูลอย่างเดียวมันได้ Information มหาศาลเลยที่จะเอาไปใช้ หรือ Facebook ก็แล้วแต่

เพราะฉะนั้นเวลาเขาจะขยายธุรกิจเขาสามารถข้ามไปทำธุรกิจอื่น ๆต่อเนื่องได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทำธุรกิจแบบเดิม เราก็จะเห็นว่าวันนี้ตัว Google เองไปทำมือถือ ไปทำรถยนต์ที่ไร้คนขับ ไปทำแว่นตา ไปทำอื่นๆอีกสารพัดอย่างเลย Facebook ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นพวกธุรกิจพวกนี้ทรัพย์สินที่สำคัญของพวกเขาคือ “ปัญญา” ปัญญาที่มันสามารถที่จะเอาไปประยุกต์ใช้ได้กับเรื่องอื่น ๆต่อไปในอนาคต

ถามต่อว่าแล้ว 4 M ยังคงใช้ได้หรือไม่ ต้องเรียนอย่างนี้เลยว่าจริง ๆยังใช้ได้อยู่เพราะว่าทุกวันนี้เรายังต้องกินข้าว เรายังคงต้องเดินทางไปไหนมาไหนอยู่ เรายังต้องมีเสื้อผ้าใส่ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้หมายความว่าคนที่จะทำธุรกิจมันต้องไปทำแบบนั้นทั้งหมดครับ

มันก็จะมีคนทำธุรกิจในยุคเดิมที่เป็นอุตสาหกรรมแบบเดิมเพียงแต่ว่าทำยังไงให้มันแตกต่างออกไป มีมูลค่ามากขึ้น เสื้อผ้าที่สวมใส่อยู่ทุกวันนี้แม้ว่ามันจะมีทำแบบนาโนออกมา ไม่มีกลิ่น ไม่ต้องซักเพราะไม่ต้องกลัวว่ากลิ่นเหงื่อจะออกมา ถามว่าแล้วเสื้อผ้าแบบเก่ายังขายได้อยู่มั้ย ก็ยังขายได้อยู่ อันนี้เราก็ต้องมองแบบประชากรทั้งโลกนะที่อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญเขาก็ยังซื้อสินค้าแบบราคาถูกอยู่นะไม่ได้ซื้อสินค้าราคาแพง

เพราะฉะนั้นสินค้าที่มีราคาแพงมีนวัตกรรมมันก็ไปขายให้กับลูกค้ากลุ่มหนึ่ง สินค้าที่มีราคาถูกนวัตกรรมไม่เยอะก็ไปขายอีกกลุ่มหนึ่ง เพียงแต่ว่าความแตกต่างของสินค้าสองประเภทนี้บางทีมันไม่ใช่เรื่องทุนในการผลิต เพราะว่าทุนในการผลิตไม่ต่างกันหรอกแต่มันอยู่ที่อำนาจซื้อของผู้ซื้อ คือสินค้าที่ขายแล้วมาติดยี่ห้อใส่คุณสมบัติบางอย่างเพิ่มเข้าไป ซึ่งคุณสมบัตินั้นบางทีมันก็ไม่ได้แพงแต่ว่ามันไม่ได้มีความจำเป็นกับคนผู้ใช้ผู้บริโภคประเภทหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่นวันก่อนผมไปเดินในห้างสรรพสินค้าดิสเคาสโตร์แห่งหนึ่ง  ไปดูเสื้อที่เขาผลิตแล้วก็ขายจำนวนมากเพราะว่าพอดีจะซื้อไปให้พนักงานใส่ แหล่งผลิตมาจากบังคลาเทศเป็นโรงงานในการผลิต เพราะค่าแรงที่โน่นถูกมากเพราะฉะนั้นสินค้าแบบนี้ไม่ใช่จากจีนด้วยนะจากบังคลาเทศ เพราะว่าเดี๋ยวนี้สินค้าจากจีนมันจะเริ่มมีราคาที่สูงขึ้น เวลาส่งขายต่างประเทศจะเริ่มไม่คุ้มเพราะฉะนั้นไปเอาจากบังคลาเทศคุ้มกว่า เขาขายอยู่ตัวละประมาณ 100 บาทเป็นเสื้อโปโลถือเป็นราคาน่าสัมผัสได้ แล้วผมก็ลองซื้อมาให้ทีมงานใส่สวย คุณภาพโอเคใช้ได้เลย

เพราะนั้นสินค้ามันถูกทำให้จัดหมวดหมู่ตามประเภทตามลูกค้า โดยที่บางทีคุณสมบัติมันไม่ได้ต่างกัน เพียงแต่ว่าติดแบรนด์หรือไม่ติดแบรนด์ เพราะฉะนั้นกลับมาที่คำว่าแล้ว “4 M”แบบเดิมยังใช้ได้มั้ย

คือจริง ๆ M ตัวสุดท้ายเรื่อง Management มันก็ยังใช้กับทุกธุรกิจอยู่ โดย M ในแง่ของตัว Money ทุกธุรกิจก็ต้องใช้เงินอยู่เพียงแต่ว่าวิธีการหาเงินไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นธุรกิจที่มันใช้ในแง่ของ“ปัญญา”หรือ “ทรัย์สินปัญญา” เยอะ ๆ เงินตรงนั้นมันก็จะไม่เหมือนเงินสำหรับพวกเอสเอ็มอีเวลาทำธุรกิจ

ส่วนในแง่ของ M ที่เป็น Man ก็ไม่เหมือนกัน โดย Man สำหรับเอสเอ็มอีเวลาทำธุรกิจเราก็ไม่มีเงินไปจ้างคนที่จบต่างประเทศหรือว่าคนที่จบมหาวิทยาลัยดังๆเพราะฉะนั้นมันก็จะไม่ได้

ส่วน Material นี่โอเค วัตถุดิบมันก็ขึ้นอยู่กับลูกค้า ลูกค้าคนกลุ่มไหนเราก็ใช้วัตถุดิบแบบนั้น คือแนวคิดแบบนี้ผมคิดว่าเราศึกษาไว้มันเป็นประโยชน์ ในแง่ของธุรกิจสตาร์ทอัพใช้โมเดลแบบนี้ค่อนข้างเยอะ เพราะว่าสตาร์ทัอัพพยายามที่จะทำสินค้าหรือบริการที่มัน Scale up ได้ใช่มั้ยในลักษณะเติบโตแบบก้าวกระโดด จาก 1 เป็นล้าน จากล้านเป็น 500 ล้านอย่างนี้ เพราะฉะนั้นจะ Scale up แบบนี้ได้มันต้องมีในเรื่องของเทคโนโลยี ต้องมีเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา มี นวัตกรรมใส่เข้าไปถูกมั้ย

ถ้ามันไม่ใส่เข้าไปมันจะเติบโตแบบนี้ไม่ได้ อย่าง Facebook นี่อายุแค่ 10 กว่าปีเองเข้ามาเมืองไทยน่าจะประมาณไม่ถึง 10 ปีดีดูสิว่าจำนวนคนใช้ในเมืองไทยเท่าไหร่ 40 กว่าล้าน ล่าสุดตัวเลขเห็นออกมาว่ามีคนใช้ Facebookในเมืองไทย 51 ล้านบัญชีแต่จำนวนคนจริง ๆแล้วที่ Active ทุกเดือนมีอยู่แค่ 10 ล้านนะ

เพราะฉะนั้นธุรกิจแบบนี้มันถึงจะทำให้มันเติบโตได้ อย่าง “วงใน”ธุรกิจยังไม่ถึง 10 ปีดีเลย ทุกวันนี้เวลาเรา Search หาร้านอาหารเรากลายเป็นใช้ “วงใน”เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะเข้าถึงข้อมูลในเรื่องร้านอาหาร อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง

จริง ๆแล้วผู้ฟังในรายการนี้ก็มีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่มนะ เพราะฉะนั้นในแง่ของตัวธุรกิจนี่มันก็ขึ้นอยู่ที่การเอาไปประยุกต์ใช้ล่ะว่าเหมาะสมกับบริบท สภาพแวดล้อมของธุรกิจเราแบบไหน อย่างไร